ผับตระหนักร้านเหล้าทั่วกรุงสนใจ ป้ายหนีไฟ ถังดับเพลิงขาดตลาด ชัชชาติหารือเตรียมจัดโซนนิ่ง ลงตรวจสถานบริการ ขีดเส้นไว้ที่ 1 เดือน ต้องแก้ไขให้ได้ตามกรอบ

วันที่ 15 ส.ค.2565 พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ประเด็นเรื่อง การลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกความปลอดภัยของสถานบริการ สถานประกอบการ พบว่างสถานประกอบการรายย่อยยังให้ความสนใจกับการปรับปรุงความปลอดภัยน้อย ในส่วนนี้อาจจะให้เวลาการแก้ไขเพิ่มให้อยู่ในกรอบที่ผู้ว่าฯกทม.กำหนดไว้ที่ 1 เดือน จะได้ครบตามที่ตำรวจนครบาลแจ้งไว้ประมาณ 800 กว่าแห่ง

อย่างไรก็ดีตอนนี้ผู้ประกอบการหลายแห่งตระหนักถึงการป้องกันแล้ว โดยพบว่าป้ายสัญญาณหนีไฟ กับเครื่องดับเพลิงสีเขียวขาดตลาด เพราะว่าไปรุมกันซื้อรุมกันสั่ง เห็นได้จากสิ่งที่มันขาด และใช้เวลาการติดตั้ง

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสถานบันเทิงที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ถือเป็นเรื่องที่รุนแรงมาก ส่งผลต่อความมั่นใจนักท่องเที่ยวของประชาชนทั้งประเทศ เรื่องนี้กทม.ไม่ได้ละเลย และดำเนินการมาตั้งแต่ 20 มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่คณะเข้ามารับตำแหน่งและเริ่มงาน 2 สัปดาห์แรกและเกิดเหตุไฟไหม้ที่ย่านสีลม ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของคำสั่งที่ให้เอ็กซเรย์ทั้งกรุงเทพ

ส่วนเรื่องการจัดระเบียบโซนนิ่งของสถานบันเทิง ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกับทางตำรวจอย่างเป็นรูปธรรม คาดว่าจะต้องมีการนัดหารือว่าควรจะปรับเปลี่ยนโซนนิ่งอย่างไร กทม.เองมีแผนที่จะร่วมมือกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) อีกหลายเรื่องนอกจากการจัดพื้นที่ยังมีในส่วนของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อความปลอดภัย ซึ่งกทม.เองอาจจะช่วยลงทุนในระบบกล้องวงจาปิดที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) สามารถตรวจจับหน้าบุคคลได้

ในส่วนของกฎหมาย ข้อบังคับที่มีประกาศใช้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว มีความตั้งใจว่าจะต้องมีการสังคายนาใหม่แต่เรื่องข้อบัญญัติต่างๆ จะต้องผ่านการประชุมของสภา กทม.ก่อนเพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือการนำสิ่งที่มีอยู่มาปฏิบัติเลย และอนาคตอาจจะมีการพิจารณาว่าส่วนไหนที่ไม่ทันสมัยรวบทำเป็นฉบับเดียวให้เข้าใจง่ายกว่า

ทางพล.ต.อ.อดิศร์ กล่าวว่า ในส่วนนี้ข้อมูลถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ บริบทของแต่ละสถานที่เปลี่ยนไปตามเวลาหากจะมีการปรับเปลี่ยนระเบียบที่มีการกำหนดไว้มากว่า 20 ปีแล้วส่วนของข้อมูลพื้นฐานข้อมูลยืนยันจะต้องครบถ้วน

อำนาจหน้าที่ของกทม.มี 2 อย่างคือการอนุญาตการใช้อาคาร โครงสร้างพอจะเริ่มเปิดให้บริการก็จะให้ใบอนุญาตในส่วนของการประกอบการร้านอาหารและการใช้เสียง แต่ต้องยอมรับว่าเวลาเปิด-ปิด ก็เป็นตัวแปรสำคัญที่กทม. ไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายเป็นหน้าที่ของตำรวจ แต่เรื่องนี้เป็นการทำงานคู่กันต้องประสานงานกันด้วยความเข้าใจเรื่องของกฎหมาย

จากการลงพื้นที่เชิงรุกจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการมากกว่า 90% มีความตื่นตัวที่จะปรับปรุงตามคำแนะนำ เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยในสถานประกอบการ หลายที่มีการทุบผนังออกเพื่อที่จะทำประตูทางออกเพิ่มมากขึ้น และอย่างย่านสีลมซอยสองที่เกิดเหตุมีการแก้ไขเชิงกายภาพทั้งหมด

ด้านผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กระบวนการตรวจสอบสถานประกอบการจะมี 2 แบบตั้งแต่ 20 มิ.ย.เป็นการตรวจจากสำนักงานเขต สิ่งที่สำนักงานเขตต้องทำร่วมกับสำนักการโยธา และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คือตรวจส่วนของโควิด ตรวจเรื่องการใช้กัญชาและการใช้สารเสพติดชนิด และเรื่องการตรวจระบบอัคคีภัยเนื่องจากช่วงสัปดาห์ที่เริ่มตรวจมีเหตุเพลิงไหม้หลายที่ ซึ่งแผนการตรวจลักษณะนี้สำนักงานเขตจะมีแผนการตรวจวนรอบจากนั้นข้อมูลส่วนนี้จะถูกนำส่งให้ส่วนกลางเพื่อจะได้พิจารณาว่าสถานประกอบการไหนมีปัญหาจุดใด

หลังจากเกิดเหตุที่อำเภอสัตหีบทางผู้ว่าฯกทม.ได้มีการกำชับอีกครั้งหนึ่งและให้เร่งการตรวจให้เข้มข้นจึงได้มีการจัดตั้งทีมเชิงรุกโดยการนำข้อมูลจากสำนักงานเขตที่รวบรวมมาและลงพื้นที่ตรวจตรวจทวนซ้ำว่าร้านได้มีการทำตามคำแนะนำและเพิ่มเติมในส่วนของข้อปรับแก้ หลังจากลงพื้นที่ตรวจสอบมาเป็นระยะเวลา 10 วันตรวจแล้ว 121 ที่ บางส่วนได้มีการย้ำเตือนให้ปรับปรุงในส่วนโครงสร้างการใช้พื้นที่

ส่วนที่กังวลคือ เรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่เพราะในส่วนของเจ้าของร้านพนักงานเองจะมีความคุ้นเคยรับรู้ว่าทางออกทางหนีไฟอยู่บริเวณไหน แต่สำหรับผู้ที่มาใช้บริการจะไม่ทราบข้อมูลเหล่านี้เป็นพื้นฐาน ประกอบกับจะต้องคำนวณถึงความเหมาะสมในการเดินทางจากพื้นที่ด้านไหนเพื่อออกไปยังดันนอกตัวอาคารเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

ต้องเตรียมการสื่อสารกับชาวต่างชาติให้ดี เพราะชาวต่างชาติส่วนใหญ่มาเที่ยวไม่คุ้นเคยกับร้านเหมือนเราไปที่ประจำบ่อยๆ

ที่มา มติชนออนไลน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน