ปลัด มท. ขานรับคำสั่ง นายกฯ เร่งถกปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล หวังเร่งรัดแก้ไขปัญหา ตั้งเป้าเสร็จ วันที่ 1 ต.ค. 67 พร้อมประสาน สธ. ตั้ง กองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนที่รอแก้ปัญหา
20 พ.ย. 66 – ที่กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล ครั้งที่ 1/2566 ในฐานะรองประธานอนุกรรมการ คนที่ 1
โดย มีนายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายบรรจบ จันทรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายการทะเบียนและเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมด้วยผู้แทนจากภาคส่วนราชการต่าง ๆ
อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กองบัญชาการตำรวจสันติบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการจากภาคประชาชน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) P-move ร่วมประชุมหารือ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ได้มีคำสั่งให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ เป็นประธาน โดยมีคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย เป็นประธาน เพื่อเป็นกลไกในการกำกับเร่งรัดและติดตามการแก้ไขปัญหา ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งมั่นในการทำให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
โดยการประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสดียิ่ง ที่มีกระบวนการจากภาคประชาชนเข้ามาร่วมปรึกษาหารือในเรื่องปัญหาสิทธิ และสถานะบุคคลของขบวนการประชาชน อาทิ เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย 4 จังหวัด ได้แก่ พังงา ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง 907 ราย ซึ่งประกอบไปด้วยคนไทยพลัดถิ่น 705 ราย มุสลิมจากพม่า 202 ราย เครือข่ายชาวเลอันดามัน 465 ราย ซึ่งประกอบไปด้วย ชาวเล มอแกลน มอแกน อูรักลาโว้ย เครือข่ายฮักน้ำที่เป็นชาวลาว 164 ราย
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล กระทรวงมหาดไทยยืนยันว่าจะนำทุกข้อปัญหาไปดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็ว โดยใช้กลไกระดับจังหวัด ระดับอำเภอ พร้อมด้วยผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ซึ่งมีคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นกลไกหลักขับเคลื่อนงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ไปประชุมปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน
โดยจะให้ท่านอธิบดีกรมการปกครองหรือรองอธิบดีฯ ที่ได้มอบหมาย ลงไปแก้ไขปัญหาเพื่อให้มีตัวแทนจากส่วนกลางเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยตั้งเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 ต.ค. 67
นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ จะมีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม การติดตาม ตรวจสอบ พร้อมการประเมินผลงานให้นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง สำหรับการขอสัญชาติไทยนั้น ในส่วนของภาคราชการก็จะต้องมีกรอบระยะเวลา มีแบบฟอร์มเอกสารหลักฐาน ที่จะทำให้ประชาชนผู้ร้องขอได้นำหลักฐาน หรือต้องนำองค์ประกอบต่างๆ เข้ามาเป็นองค์ประกอบ
อาทิ หากมีญาติพี่น้องเป็นคนไทยก็ต้องมีการแสวงหาข้อเท็จจริงให้ได้ เมื่อไม่สามารถยืนยันได้ ในขั้นตอนต่อไปก็ต้องนำเอกสารทางการแพทย์ หรือทางนิติวิทยาศาสตร์มายื่น ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยจริง ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองรับทราบก็จะสามารถตรวจสอบในเชิงพื้นที่ได้ในเชิงลึกหรือที่เรียกกันว่า “Case by Case”
สำหรับการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล ที่ตนจะดำเนินการให้มีการขับเคลื่อน คือกระทรวงมหาดไทยจะได้มีหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุขในการขอจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนที่รอการแก้ปัญหา และการเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานเฉกเช่นพลเมืองผู้มีสัญชาติไทย
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล ที่ประชุมได้มีมติให้มีการจัดประชุมในทุกเดือน เพื่อรายงานปัญหาและความคืบหน้า พร้อมติดตาม พูดคุยปรึกษาหารือ เพื่อจะได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
ซึ่งหากพี่น้องประชาชนหรือบุคคลใดมีข้อสงสัย หรือพบปัญหา หรือมีข้อร้องเรียน หรือต้องการขอความช่วยเหลือในประเด็นปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล สามารถติดต่อผ่านช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและอำเภอ โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง
หรือหากไม่ได้รับการแก้ไขหรือชี้แจงที่เป็นที่พึงพอใจ ก็สามารถส่งจดหมายแบบลงทะเบียน มาที่ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ผู้บริหารจากส่วนกลาง ได้ไปเร่งรัด ดำเนินการแก้ไขติดตามปัญหา เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติได้อย่างเป็นรูปธรรม