นักธรณีขุดพบฟอสซิลไฮยีน่า ในถ้ำจำนวนมาก คาดอายุกว่า 2 แสนปี เผยกระบี่เคยเป็นทุ่งหญ้าสะวันนามาก่อน
วันที่ 9 ก.พ.68 ผศ.ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทีมนักธรณีวิทยา ร่วมกับชมรมคนรักถ้ำกระบี่ ขุดค้นสำรวจภายในถ้ำโต๊ะช่อง บ้านช่องพลี ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่
เบื้องต้นพบซากดึกดำบรรพ์ ฟอสซิลฟันกราม กระดูก สัตว์หลายชนิด อยู่ตามพนังถ้ำ พื้นที่ถ้ำ เช่น ไฮยีน่า อุรังอุตัง กวางป่า กวาง เม่น เป็นจำนวนมาก หมู วัว และที่ยังไม่ชัดเจนต้องนำไปล้างทำความสะอาด ดูรายละเอียดว่าเป็นฟันอะไรอีกจำนวนหนึ่งเก็บหลักฐานไปตรวจพิสูจน์หาค่าอายุที่แท้จริงต่อไป พร้อมทั้งเตรียมสำรวจวิจัยอย่างเต็มรูปแบบ
ผศ.ดร.กันตภณ เปิดเผยว่า จากการคาดคะเนอายุเบื้องต้น น่าจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ช่วงปลายของสมัยไพลสโตซีนตอนล่าง ไปจนถึงช่วงต้นของสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย หรือประมาณ สองแสนถึงแปดหมื่นปีที่ผ่านมา การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไฮยีนาลายจุด ถือเป็นหลักฐานสำคัญของการกระจายตัวของไฮยีนาลายจุดลงมาทางตอนใต้สุดเท่าที่เคยพบมาในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการศึกษาสภาพแวดล้อมในอดีตจะช่วยให้เราเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในปัจจุบันและอนาคต เรียนรู้ข้อจำกัดของธรรมชาติซึ่งจะช่วยอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์และสามารถปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเข้าใจ
ที่ผ่านมา ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาไอโซโทปเสถียร ของธาตุคาร์บอน และศึกษาไอโซโทปของออกซิเจนจากเคลือบฟันของซากดึกดำบรรพ์ที่พบภายในถ้ำยายรวก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ผลการวิเคราะห์ไอโซโทปยืนยันว่า พื้นที่กระบี่ในสมัยไพลสโตซีนหรือเมื่อสองแสนปีที่แล้ว มีสภาพแวดล้อมเป็น “ทุ่งหญ้าสะวันนา” สลับป่าทึบเป็นหย่อมๆ ซึ่งเป็นเส้นทางที่เหมาะสมสำหรับการย้ายถิ่นหรืออพยพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมไปยังหมู่เกาะต่างๆ
นอกจากนั้น ยังมีข้อสันนิษฐานว่าการกระจายตัวของไฮยีนาลงมาใต้สุดที่กระบี่นี้เป็นผลมาจากความไม่ต่อเนื่องของเส้นทางสะวันนา ที่ถูกคั่นด้วยป่าฝนในบริเวณซุนดาแลน ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นอยู่ทั่วไประหว่างคาบสมุทรไทย-มาเลเซีย ในช่วงยุคน้ำแข็งในสมัยไพลสโตซีน ปัจจุบันพบไฮยีนาอาศัยอยู่บริเวณทุ่งหญ้าสะวันนาในทวีปแอฟริกาเท่านั้น