เมื่อปี 2559 พระครูโพธารามพิทักษ์ หรือหลวงพ่อเขียน เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์ให้ เป็นพระมงคลชัยสิทธิ์ ในฐานะที่ท่านได้ทำคุณประโยชน์แก่ชาติและพระพุทธศาสนามาโดยตลอดอย่างถ่องแท้

หลวงพ่อเขียนคือผู้นำชุมชนในการรังสรรค์ศาลาการเปรียญวัดโบสถ์ ให้เป็นที่รวบรวมหนังสือต่างๆ รวมไปถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ก่อนจะพัฒนาเป็นหอวัฒนธรรมลาวเวียง แหล่งเรียนรู้ชุมชน ทำให้เป็นห้องสมุดมีชีวิตเพื่อให้บริการแก่เยาวชนและชาวบ้านในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง หอวัฒนธรรมลาวเวียงเกิดจากแนวคิดของ หลวงพ่อเขียน ท่านเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ และศิลปวัตถุที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวลาวเวียงในชุมชนวัดโบสถ์

นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้มีความรู้แตกฉานด้านพระธรรมวินัย มีวัตรปฏิบัติที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป และเป็นผู้นำและมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น และชุมชนอย่างต่อเนื่องท่านเป็นศิษย์เอกผู้สืบทอดพุทธาคม ตำรับน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ของพระครูประสาทสังวรกิจ หลวงปู่อินทร์ อินทโชโต อดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์

โดยในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นท่านได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนทั่วไป วิทยาคมแก่กล้า พลังสมาธิจิตอยู่ในระดับสูง ท่านยังมีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในด้านแพทย์แผนโบราณ มีความสามารถในการบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

แต่ละวันมีลูกศิษย์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เดินทางไปกราบไหว้ ขอพร รดน้ำมนต์ รวมทั้งดูดวงอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำท้องถิ่น ท่านได้ให้การสนับสนุนการจัดทำนโยบายเรื่องการฝึกอบรมอาสาสมัครพระสงฆ์ที่ทุกวัดต้องปฏิบัติตาม ด้วยเล็งเห็นว่า

หากพระสงฆ์มีความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคก็จะดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาท ไม่ต้องเจ็บป่วยจนกลายเป็นภาระของสังคม โดยท่านมีแนวคิดว่า พระสงฆ์เปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของสังคมไทย ในการเป็นเครื่องยืดเหนี่ยวจิตใจ หากพระเจ็บป่วยแล้วใครจะเป็นที่พึ่งของญาติโยม ดังนั้นพระจะต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง ทั้งการเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาและการเป็นผู้ชี้นำเรื่องสุขภาพอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อเขียนในวัย 80 ปี ท่านยังมีสุขภาพที่แข็งแรง ได้เล่าขานถึงความเป็นมา ของชาวไทยลาวเวียง หรือ กลุ่มชนชาวลาวตี้ ในเขตพื้นที่ ต.นางแก้ว วัดบ้านฆ้อง และต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ชนชาติลาวกลุ่มหนึ่งที่มีเชื้อสายลาวจากเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งถูกกวาดต้อนเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 200 ปีมาแล้ว ปัจจุบันนี้คนลาวเวียงส่วนใหญ่ไม่ค่อยที่จะพูดภาษาของตนเอง เพราะรู้สึกอายในภาษาและสำเนียง ส่วนประเพณีที่น่าสนใจ และเป็นแบบอย่างในเรื่องความรัก ความสามัคคีของหมู่คณะ ความกตัญญูกตเวที ต่อบรรพบุรุษ ได้แก่ ประเพณีสารทลาวเวียง ประเพณีนี้อยู่คู่กับชุมชนลาวเวียงมาตั้งแต่ก่อตั้งชุมชนได้เลยทีเดียว และยังนำมาปฏิบัติจนกระทั่งทุกวันนี้

สำหรับพิธีกรรมหนึ่งที่ได้รับความนิยมทั้งคนในท้องถิ่นและคนต่างถิ่น คือ พิธี แต่งแก้ หรือ พิธีแก้เคราะห์กรรม ทั้งนี้ หลวงพ่อเขียน เล่าให้ฟังอีกว่า ลาวที่อพยพมาจากนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว ประมาณ พ.ศ.2322 ได้นำเอาบุญประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและความเชื่อก็ติดมาด้วย

แต่ด้วยระยะกว่า 200 ปี ทำให้วัฒนธรรมสูญไปตามกาลเวลาเกือบทั้งหมด บุญประเพณีแข่งกลอง บุญบั้งไฟ ที่เคยมีก็หายไป ส่วนเรื่องภาษานั้นจะพูดกันในหมู่ผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ก็ยังมีวัดบางแห่งที่สวดให้พรญาติโยมเป็นภาษาบาลีสำเนียงลาวอยู่

สำหรับการสะเดาะเคราะห์ที่นี้ เรียกว่า แต่งแก้-แก้ร้ายกลายเป็นดีหรือ พิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาเป็นพิธีกรรม หลวงปู่อินทร์ อดีตเจ้าอาวาสทำมากว่า 40 ปี ขณะที่หลวงพ่อเขียนก็ทำมากกว่า 30 ปี โดยผู้ที่เข้าร่วมพิธีจะต้องแจ้งชื่อวันเดือนปีเกิด เพื่อจะได้ดูดวงชะตาต้องแก้ด้วยอะไรบ้าง ด้วยคติความเชื่อที่ว่า หายเจ็บ หายไข้”

พิธีแต่งแก้ เป็นความเชื่อของคนลาวมาตั้งแต่โบราณ ในอดีตนั้นจะเป็นความเชื่อของคนลาวในท้องถิ่นเท่านั้น ทั้งนี้จะทำพิธีนี้เมื่อขวัญเสีย เรียกขวัญ พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก รวมทั้งเมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วย ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อใครได้ทำพิธีนี้แล้วเกิดสิริมงคลแก่ชีวิต จึงมีคนนอกพื้นที่เข้ามาร่วมพิธีจำนวนมาก โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ”

กล่าวสำหรับวัดโบสถ์ เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งของเมืองโอ่ง ชาวบ้านเรียกขานวัดโบสถ์ข้าวโพดแปดแถว ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 28ไร่ ในหมู่หมู่บ้านที่ 1 ต.บ้านเลือก เป็นวัดเก่าแก่อายุเกือบ 200 ปี เริ่มตั้งแต่สมัยพระอธิการบุตตา ได้สร้างกุฏิและวางรากฐานอุโบสถตั้งแต่ปี พ.ศ.2370 มีประชาชนร่วม 3 หมู่บ้าน ร่วมกันทำบุญกุศลอยู่ที่วัด และวัดที่เสนาสนะต่างๆ เช่น อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ ศาลาเอนกประสงค์ ศาลาฌาปนสถาน ตลอดจนถาวรวัตถุภายในวัด

วัดโบสถ์ เดิมคือ วัดบ้านเลือกเหนือ คู่กับ วัดบ้านเลือกใต้ (วัดบ้านเลือก) ต่อมา หลวงปู่อินทร์ (พระครูประสาทสังวรกิจ) ได้สร้างอุโบสถขึ้นมาใหม่เพื่อทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์ ผู้คนเห็นต่างเล่าลือบอกต่อๆว่า วัดนี้โบสถ์งามต่อมาคนเรียกว่า วัดโบสถ์งาม และขานมาเป็น วัดโบสถ์จนถึงปัจจุบันนี้

และที่สำคัญวัดโบสถ์มีน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ้งสืบทอดเป็นตำนานมานับศตวรรษแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ในทุกๆวันก็จะมีคนจำนวนมากมาทำพิธีสะเดาะเคราะห์กัน จนในบริเวณวัดก็จะมีตลาดเล็กๆเกิดขึ้น

ซึ่งก็เป็นชาวบ้านแถวนั้นนำผักพื้นบ้าน ที่ปลูกขึ้นเองมาวางขาย ผักสดสดราคาไม่แพง ไม่ว่าจะเป็น มะกรูด ตำลึง กระถิน ขนุน หัวปลี และมีหน่อไม้ และน้ำพริกตาแดงที่เด่นอีกอย่างหนึ่งในวัดโบสถ์ แต่ก็มีอีกอย่างที่เด่นกว่า คือ ข้าวโพดแปดแถว ที่พ่อค้า แม่ค้า ที่อยู่แถวนั้นปลูกเองแล้วนำมาขายที่วัดโบสถ์ ร้านข้าวโพดแปดแถวที่ไม่ว่าจะตั้งเป็นแผงร้านข้าวโพดที่ว่าจะตั้งเป็นแผงขายอยู่ในวัดโบสถ์

ข้าวโพดที่ขายกันก็จะเป็นข้าวโพดข้าวเหนียวแต่ละฝักจะมี 8 แถว จึงเรียกว่า ข้าวโพด 8 แถว ที่นี่เขาจะหักข้าวโพดแล้วเอามาต้มทันที ข้าวโพดจะนุ่มและหวาน ไม่เหมือนข้าวโพดต้มในกรุงเทพฯ ที่หักมาหลายวันแล้วจึงเอามาต้ม กินเท่าไรก็ไม่มีความหวาน ต้องเอาจุ่มในน้ำเกลือผสมน้ำตาลจึงจะมีรสหวาน กินแล้วเหนียวมือชะมัด ไม่เหมือนข้าวโพดที่นี่ไม่ต้องจุ่มอะไรเลย ทั้งนุ่มทั้งหวาน สด ใหม่ ต้มใหม่วันต่อวัน สามารถซื้อไปทานได้เลย ขายเป็นถุง ถุงละ 20 ดอก ราคา 100 บาท

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า วัดโบสถ์ ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี มีเรื่องราวดีๆที่น่าสนใจมากมาย เหมาะที่จะมาเยือนเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิตสืบต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน