“ราม วัชรประดิษฐ์”

หลวงปู่ยิ้ม จันทโชติ หรือ “หลวงพ่อเฒ่ายิ้ม” อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองบัว (มาราลปุอีรศดัว) พระเถราจารย์ชื่อดังแห่งจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ทรงคุณวิเศษและมีวิทยาคมแก่กล้า ต้นตำรับ “ตะกรุดโลกธาตุ” อันลือเลื่อง และผู้สร้าง “พระปิดตา” ที่ได้รับยกย่องให้เป็น 1 ใน 5 “ชุดเบญจภาคีพระปิดตาของไทย” ว่ากันว่า “มีดหมอประจำพระองค์กรมหลวงชุมพรฯ” ก็เป็นของท่านด้วย

เป็นชาววังด้ง จังหวัดกาญจนบุรี เกิดเมื่อปี พ.ศ.2387 เมื่อวัยเด็กใจคอเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ เป็นนักเลง จนเด็กรุ่นเดียวกันหรือแก่กว่า ต้องยอมยกให้เป็นลูกพี่ ช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพโดยนำไม้ไผ่ล่องแพไปขายที่ปากอ่าวแม่กลอง จนเป็นที่รู้จักของชาวแม่กลองเป็นอย่างดี

เมื่ออายุครบบวช ได้อุปสมบทที่วัดทุ่งสมอ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี โดยมี เจ้าอาวาสวัดทุ่งสมอ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์แดง วัดเหนือ และ พระอาจารย์อินทร์ วัดทุ่งสมอ เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาว่า “จันทโชติ”

ใฝ่ใจศึกษาทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ สามารถท่องจำบทพระปาฏิโมกข์ได้ตั้งแต่พรรษาที่ 2 นอกจากนี้ยังได้ศึกษาวิทยาคมกับพระอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญวิทยาคมหลายรูป อาทิ หลวงพ่อพระปลัดทิม วัดบางนางลี่น้อย อ.อัมพวา, หลวงพ่อพ่วง วัดปากสมุทรสุดคงคา, หลวงพ่อกลัด วัดบางพรมอัมพวา และ หลวงพ่อแจ้ง วัดประดู่อัมพวา เป็นต้น

จากนั้นออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ไกลถึงลาว เขมร เพื่อฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนที่สุดกลับมาเยี่ยมพระอุปัชฌาย์ ณ วัดทุ่งสมอ และจำพรรษา ณ วัดทุ่งสมอ จนเมื่อได้ข่าวว่าที่วัดหนองบัวมีปรมาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมแก่กล้า จึงลาพระอุปัชฌาย์เดินทางสู่วัดหนองบัว เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาวิชากับ “พระอุปัชฌาย์กลิ่น เจ้าอาวาส” ท่านนับเป็นศิษย์รูปสุดท้าย ต่อมาเมื่อพระอุปัชฌาย์กลิ่นมรณภาพ ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์ท่านเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อ

นอกจากนี้ ยังมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือในด้านวิปัสสนากรรมฐาน แม้แต่ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ยังเคยธุดงค์มาจำพรรษาที่วัด เพื่อแลกเปลี่ยนสรรพวิชากัน ประการสำคัญ ท่านได้ถ่ายทอดวิทยาคมให้กับลูกศิษย์ในยุคต่อๆ มา จนกลายเป็นพระเกจิชื่อดังหลายรูป อาทิ หลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว, หลวงปู่ดี วัดเทวสังฆาราม, หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ และ หลวงพ่อสอน วัดลาดหญ้า เป็นต้น

มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2453 สิริอายุ 66 ปี พรรษา 46








Advertisement

พระปิดตา หลวงปู่ยิ้ม นั้น ท่านสร้างจากผงวิเศษที่ท่านทำเอง โดยใช้เวลารวบรวมมวลสารถึง 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2439-2441 ส่วนผสมต้องตรงตามสูตร “การสร้างพระปิดตาแบบโบราณ” อย่างเคร่งครัด ซึ่งโดยส่วนใหญ่ได้จากธรรมชาติ ได้แก่ ผงอิทธิเจ ปถมัง มหาราช ตรีนิสิงเห ว่าน 108 ดอกไม้บูชา พระ ไคลโบสถ์ ขี้ผึ้งจากรังผึ้ง ฯลฯ จากนั้นปลุกเสกจนถึงปี พ.ศ.2445 จึงนำออกมาแจกจ่าย มีทั้ง เนื้อเหลือง เนื้อขาว เนื้อผงเทา เนื้อผงคลุกรัก เนื้อผงธูป เนื้อขี้เป็ด เนื้อตะกั่ว ฯลฯ ทั้งแบบจุ่มรักและคลุกรัก เนื้อนิยม คือ “เนื้อเหลือง”

ลักษณะเป็นพระปิดตาแบบลอยองค์ องค์พระประทับนั่ง ปางสมาธิราบ พระหัตถ์ปิดพระเนตร มี 3 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่, พิมพ์สังกัจจายน์ และพิมพ์แข้งซ้อน “พิมพ์ใหญ่” ยังแบ่งเป็น พิมพ์ใหญ่ชะลูด และ พิมพ์ใหญ่ต้อ ซึ่งต่างกันเพียง “พิมพ์ใหญ่ต้อ” จะมีความสูงน้อยกว่าและดูต้อกว่า “พิมพ์ใหญ่ชะลูด” นับเป็นพิมพ์นิยม

การพิจารณาแม่พิมพ์ ของพระปิดตา หลวงปู่ยิ้ม พิมพ์ใหญ่ชะลูด (พิมพ์นิยม) มีดังนี้

– ขอบข้างจะเห็นเป็นรอยของมีคมเฉือนไปตามรูปทรงขององค์พระ เป็นเหลี่ยมสั้นบ้างยาวบ้าง

– พระหัตถ์ที่ประสานกันบนพระพักตร์จะเป็นสันนูนขึ้น คล้าย “พนมมือ”

– จุดที่พระพาหาด้านในมาบรรจบกันตรงกึ่งกลาง จะเป็นจุดสูงสุดแล้วลาดลงไปด้านบน ซึ่งคือ “พระพักตร์” ส่วนที่ลาดลงด้านล่าง คือ “พระพาหา” ทั้งสองข้าง

– พระกัประ (ข้อศอก) ด้านซ้ายขององค์พระจะถอยชิดด้านใน ส่วนด้านขวาจะยื่นไปข้างหน้า

– พระชานุ (เข่า) ด้านขวาขององค์พระจะหักงอและชี้ขึ้น ส่วนด้านซ้ายจะเรียบตรง

– พระชงฆ์ (หน้าแข้ง) ปรากฏรอยบุ๋ม 2 หลุม บางองค์เป็นแบบตันก็มี

ส่วนด้านหลัง จะเป็นรอยปาดเรียบครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน