“เพชรบูรณ์” ดินแดนโบราณก่อนประวัติศาสตร์ มีพระพุทธมหาธรรมราชา พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ตำนานขลังพระเครื่องดัง มรดกล้ำค่า พระร่วงเปิดโลก พระซุ้มเรือนแก้ว พระร่มโพธิ์

พระเกจิคณาจารย์ชื่อดังในอดีตมีมากมาย โดยเฉพาะ “หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ” หรือ “พระครูวิชิตพั ชราจารย์” วัดช้างเผือก อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์

ปัจจุบันมีพระเกจิและพระเถระหลายรูป ที่เป็นศิษย์สืบปฏิปทา หลวงพ่อทบ หนึ่งในนั้น คือ “หลวงปู่จันทร์ ฐิตาจาโร” วัดซับน้อยสามัคคีธรรม ต.พุทธบาท อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ สมญานาม “พระผู้เฒ่าหลังเขา” สิริอายุ 88 ปี ผู้มีความสมถะ สันโดษ มักน้อย เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม

เป็นศิษย์พุทธาคมหลวงพ่อทบ วัด พระพุทธบาทชนแดน และศิษย์อาจารย์วุ่น ตลับเงิน (พี่ชาย) ฆราวาสจอมขมังเวทสาย หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า, สายหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค, สายหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ฯลฯ

มีนามเดิม จันทร์ ตลับเงิน เกิดเมื่อวันพุธที่ 10 เม.ย.2473 ที่บ้านหนองพง ต.หนองพะยอม อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 5 คน ของนายแก้วและนางเม้า ตลับเงิน ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนาและค้าขาย

อุปนิสัยเป็นคนใจเด็ดเดี่ยว ทำอะไรทำจริง ทั้งมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ชอบศึกษาตำรับตำราคัมภีร์โบราณ มักจะไปอยู่กับ “อาจารย์วุ่น” พี่ชายคนโต ซึ่งเป็นอาจารย์ขมังเวทแห่งบ้านหนองพง เพื่อช่วยเหลือโรคภัยไข้เจ็บให้ชาวบ้าน อาทิ ทำน้ำมนต์ไล่เสนียดจัญไร ขับคุณไสย เป่าลมป่วง ขจัดไสยดำที่ถูกปล่อยของ ซึ่งในสมัยนั้น มีความเชื่อว่ามีอยู่ดาษดื่น

อาจารย์วุ่นศึกษาพุทธาคมจากพระเกจิดังยุคนั้นหลายรูป เช่น หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท, หลวงพ่อเดิม วัด หนองโพ, หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ฯลฯ วิทยาคมต่างๆ จึงถูกถ่ายทอดให้นายจันทร์

ต่อมาอาจารย์วุ่นพาไปถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ทบ ธัมมปัญโญ พระเกจิแห่งเมืองมะขามหวาน โดยศึกษาวิทยาคมเพิ่มเติม

ครั้นเมื่อพี่ชายถึงแก่กรรม ท่านรับภาระเป็นหมอ กลางบ้านช่วยเหลือชาวบ้านเรื่อยมา จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างดี เรียกกันว่า พ่อหมอบ้าง, อาจารย์หมอบ้าง ก่อนตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ โดยมีชาวบ้านมาให้ท่านช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บเหมือนเดิม

ท่านเล่าเรียนศึกษาพระธรรมวินัย ก่อนออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร สร้างบารมีธรรมบำเพ็ญเพียร และเสาะหาครูบาอาจารย์เพื่อเรียนวิทยาคมต่างๆ

ภายหลังกลับมาบ้านเกิดมีเหตุให้ต้องลาสิกขา ก่อนที่จะละชีวิตฆราวาสเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ครั้งที่ 2 ที่พัทธสีมาวัดสว่างเนตร อ.ชนแดน โดยมีพระครูโอภาสพัชรคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระปลัดสมชาย เป็น พระอนุสาวนาจารย์ และพระอ่อน เป็นพระกรรมวาจารย์ ได้ฉายาว่า ฐิตาจาโร มีความหมายว่า ผู้มีการประพฤติในธรรมอันตั้งมั่นไว้ดีแล้ว

หลังอุปสมบทได้ออกจาริกธุดงค์อีกครั้ง จนมาถึงวัดซับน้อยฯ สมัยนั้นเป็นเพียงที่พักสงฆ์ มีพระธุดงค์จาริกมาพักปักกลดเป็นครั้งคราว เนื่องจากเป็นสถานที่เงียบสงบ มีถ้ำหลายลูกอยู่ด้านหลังวัด เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม สภาพตอนนั้นทรุดโทรมเกือบเป็นวัดร้าง ท่านจึงตัดสินใจอยู่จำพรรษาและบูรณะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่

หลวงปู่จันทร์ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากครูบาอาจารย์หลายท่าน จึงมีความเชี่ยวชาญหลายอย่าง เช่น วิชาลงตะกรุดโทน ตะกรุดสามกษัตริย์ ตะกรุดสาลิกา ทำผ้ายันต์ เสื้อยันต์ การสร้างประคำโทน นางกวัก สีผึ้งมหาเสน่ห์ ลบผงอิทธิเจ ผงปถมัง และผง วิเศษอื่นๆ

นอกจากนี้ ท่านยังความชำนาญการฝังตะกรุดใต้ท้องแขน ซึ่งหาได้ยากที่เรียนสำเร็จวิชานี้ กล่าวกันว่า แม้แต่หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ วัดบ้านไร่ จ.นครราชีสมา ก็เรียนวิชาฝังตะกรุดใต้ท้องแขนมาจากหลวงพ่อทบ วัดชนแดน เช่นเดียวกัน

เป็นทั้งพระนักพัฒนาวัดและพัฒนาจิตใจผู้คน การเข้ากราบไหว้ขอพรหลวงปู่ไม่มีใครคอยกีดกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน