ถ้ากล่าวถึง “เขี้ยวเสือ” ทุกคนต้องนึกถึง “เขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน” ด้วยมีกิตติศัพท์เลืองลือเป็นที่กล่าวขวัญมาแต่อดีต ทั้งเมตตามหานิยม โชคลาภและมหาอำนาจ และได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน “ชุดเบญจภาคีเครื่องรางของขลัง” ของไทย

หลวงพ่อปาน เป็นชาวคลองด่านโดยกำเนิด เกิดเมื่อปีพ.ศ.2370 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

บรรพชาเมื่ออายุ 15 ปี ณ สำนักวัดอรุณราชวราราม และอุปสมบทโดยมี พระศรีศากยมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ ศึกษาคันถธุระและวิปัสสนาธุระอยู่หลายปี จึงลาพระอุปัชฌาย์กลับภูมิลำเนาจำพรรษาที่วัดบางเหี้ย

มีความสนใจด้านวิปัสสนากรรมฐานและไสยศาสตร์ต่างๆ เป็นอย่างมาก เมื่อออกพรรษาก็จะออกธุดงค์แสวงหาความรู้และฝึกวิปัสสนากรรมฐานให้แก่กล้า ท่านได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาจากพระเกจิชื่อดังหลายรูปจนเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะหลวงปู่แตง วัดอ่างศิลา จ.ชลบุรี ผู้เข้มขลังด้านวิปัสสนาธุระและไสยเวท ก่อนกลับสู่วัดบางเหี้ย และขึ้นเป็นเจ้าอาวาสในเวลาต่อมา

ตัวอย่างแสดงถึงกิตติศัพท์ของ ‘เขี้ยวเสือ หลวงพ่อปาน’ อันเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว มีอาทิ

เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จวางศิลาฤกษ์เขื่อน คนเก่าๆ เล่ากันว่า หลวงพ่อปานนำ ‘เขี้ยวเสือ’ ใส่พานถวาย 5 ตัว แต่เณรที่ถือพานเกิดทำตกน้ำไปหนึ่งตัว ท่านจึงให้เอาเนื้อหมูผูกเชือกหย่อนลงน้ำ บริกรรมพระคาถาจนเขี้ยวเสือติดชิ้นหมูขึ้นมาต่อหน้าพระพักตร์ พระองค์ทรงศรัทธาหลวงพ่อปานมาก โปรดให้เป็นที่ ‘พระครูนิโรธสมาจารย์’ และทรงเรียกเป็นส่วนพระองค์ว่า “พระครูปาน” มีปรากฏในพระราชหัตถเลขาว่า

“พระครูปานมาหาด้วย พระครูปานรูปนี้เป็นที่นิยมกันในทางวิปัสสนาและธุดงควัตร คุณวิเศษที่คนเลื่อมใสคือให้ลงตะกรุด ด้ายผูกข้อมือ รดน้ำมนต์ ที่นิยมกันมากนั้นคือ รูปเสือแกะด้วยเขี้ยวเสือเล็กบ้างใหญ่บ้าง ฝีมือหยาบๆ ข่าวที่ร่ำลือกันว่า เสือนั้นเวลาจะปลุกเสกต้องใช้เนื้อหมู เสกเป่าไปยังไรเสือนั้นกระโดดลงไปยังเนื้อหมูได้ ตัวพระครูเองเห็นจะได้รับความลำบากเหน็ดเหนื่อย ในการ ที่ใครๆ กวนให้ลงโน่นลงนี่ เขาว่าบางทีหนีไปอยู่ป่าช้าที่พระบาท หรือหนีขึ้นไปอยู่เสียที่บนเขาโพธิ์ลังกา คนก็ยังตามขึ้นไปกวนไม่เป็นอันหลับอันนอน แต่บริวารเห็นจะได้ผลประโยชน์ในการทำอะไรๆ ขาย มีแกะรูปเสือ เป็นต้น ถ้าปกติราคาตัวละบาท เวลาแย่งชิงกันก็ขึ้นไปตัวละ 3 บาท 6 บาท ก็มี ได้รูปเสือนั้นแล้วจึงไปให้พระครู ปลุกเสก สังเกตดูอัชฌาสัยก็เป็นอย่างคนแก่ใจดี กิริยาเรียบร้อย อายุ 70 ปีแล้ว ยัง ไม่แก่มาก รูปร่างล่ำสันใหญ่โต เป็นคน พูดน้อย”

เขี้ยวเสือของหลวงพ่อปานนั้นท่านจะใช้ ‘เขี้ยวเสือโคร่ง’ เพียงอย่างเดียว แล้วให้ช่างแกะที่เป็นลูกศิษย์ซึ่งมีด้วยกัน 5 คน แต่ละคนก็จะแกะไม่เหมือนกันซะทีเดียว และมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก นั่งปากเม้มหุบสนิท ตากลม ขาหน้าทั้งสองใหญ่ เล็บจิกลงบนพื้น ถ้าเป็นต่างจังหวัดก็จะมีช่างแกะคอยไว้ เวลาหลวงพ่อปานไปธุดงค์ก็จะให้ปลุกเสก หลวงพ่อปานท่านจะลงเหล็กจารด้วยตัวเอง ที่สำคัญ ‘รอยจารใต้ฐาน’ ท่านมักจะจารเป็น “นะขมวด” ที่เรียกกันว่า ‘ยันต์กอหญ้า’ และตัว ‘ฤ ฤา’ จากนั้นปลุกเสกด้วย ‘พระคาถาหัวใจเสือโคร่ง’

จากรูปทรงและการจารอักขระ จึงกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่กล่าวติดปากกันว่า ‘เสือหน้าแมว หูหนู ตาลูกเต๋า ยันต์ กอหญ้า’ ซึ่งมีทั้งเสือหุบปาก และเสืออ้าปาก เขี้ยวต้องกลวง มีทั้งแบบซีกและเต็มเขี้ยว เขี้ยวหนึ่งอาจแบ่งทำได้ถึง 5 ตัว ตัวเล็กๆ เรียก “เสือสาลิกา” เป็นปลายเขี้ยว ส่วนใหญ่พบว่าเป็นซีก คนโบราณนิยมเลี้ยงไว้ในตลับสีผึ้งทาปาก

การพิจารณาต้องดูความเก่าของเขี้ยวเสือให้เป็น คือ ต้องแห้งเป็นธรรมชาติ วรรณะเหลืองใส ผิวเป็นมันวาวไม่ด้าน มีรอยหดเหี่ยวโบราณเรียก ‘เสือขึ้นขน’ เห็นเป็นเสี้ยนเล็กๆ อาจมีรอยแตกอ้า หากผ่านการใช้สียิ่งเข้ม และรูเขี้ยวเสือจะเป็นวงรีหรือกลมค่อนไปทางรีครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน