คอลัมน์ คำคมคารมเซียน

สรรพนามจัดหมวดหมู่พระเครื่องในวงการนั้นมีหลากหลาย

มีรายละเอียดปลีกย่อยแยกแยะกันไปตามโอกาสการใช้งาน

มีบ้างที่ความหมายอาจคล้ายคลึงแต่ไม่ครอบคลุม

อย่างการจัดกลุ่ม “พระน้ำจิ้ม” ที่จริงๆ แปลว่า…พระแถม

และยังเข้าใจกันทั่วไปว่าคือพระไม่แพง

แต่หากหมายถึง “พระแพง-พระถูก” โดยตรง จะมีศัพท์เรียกเฉพาะ…ตามนี้ครับ

พระหลัก-พระย่อย : พระที่แบ่งประเภทตามระดับความนิยมและมูลค่า

ไม่มีตัวเลขยืนยันชัดเจนว่าพระเครื่องในเมืองไทยมีปริมาณเท่าไหร่แน่

ทั้งรุ่นเก่าแก่-รุ่นใหม่…มหาศาล เกินกว่าจะประมาณการได้ทั่วถึง

จึงมีความพยายามจะกำหนดกฎเกณฑ์ให้เป็นมาตรฐาน โฟกัสจำกัดจำนวนให้แคบเข้า เลือกเอาเฉพาะพระที่มีศักดิ์ศรีและความศักดิ์สิทธิ์พิสดาร เป็นความเหลื่อมล้ำในแบบที่วงการยอมรับ กำกับให้เป็นหมวดหมู่ภาคี แบ่งแยกพระแท้ดีๆ ออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียก “พระหลัก” อีกฝ่ายเรียก “พระย่อย” (“พระเบ็ดเตล็ด” บางครั้งก็เรียก)

แบ่งแยกจัดชัดโดยเซียนผู้เคร่งครัดคร่ำหวอด พิจารณาความสุดยอดทั้งสองส่วนคือ… “ยอดเยี่ยม” และ “ยอดนิยม” เรียกได้ว่าไม่ได้พิจารณาแค่เพียง “ความเชื่อ-ความขลัง” แต่ต้องวัดค่า “ความดัง” อีกต่างหาก

ถ้าพระเครื่องที่ทั้งวงการยอมรับ ร่ำลือรับรู้ว่าเยี่ยมยุทธ์ในพุทธาคม

มีความสวย-งามสม ครบถ้วนในพุทธศิลป์ มีถิ่นฐานประวัติที่มาชัดเจน

เจตนาการสร้างที่บริสุทธิ์ หายากและคน…อยากหา ยิ่งต้องจ่ายเพิ่มแพงมากเท่าไหร่ยิ่งมั่นใจ คล้ายเครื่องหนังรองเท้า กระเป๋า ก็จะเอาแต่หลุยส์ พราด้า ชาแนล กุชชี่ แบบนี้เค้าจัดให้เป็น… “พระหลัก” คงเคยได้ยินพระ “เบญจภาคี”…พระหลักชั้นดีระดับมหาเศรษฐีที่จัดเข้าชุดกัน 5 องค์

ได้แก่ พระสมเด็จฯ พระรอด พระผงสุพรรณ พระซุ้มกอ พระนางพญา

รวมค่าแล้วเหมือนแขวนคฤหาสน์หลายสิบล้านบนคอดีๆ นี่เอง…ไหวมั้ย

กับพระเครื่องที่ดูดี มีพุทธคุณและคุณสมบัติครบครัน แต่ดั๊น…ไม่ฮิต

เปิดราคาแล้วปิดไม่ได้ดังใจ เพราะไม่เป็นที่รู้จัก หรือเกจิ-อาจารย์ผู้สร้างไม่มีชื่อเสียง หรือพระมีปริมาณมากมายจนคนเกี่ยง เกรงว่าแขวนแล้วจะเกร่อ หรือยังไม่เจอประสบการณ์ปาฏิหาริย์ฮือฮา หรือลูกศิษย์ลูกหาไม่เยอะ กองเชียร์ไม่แยะ ไม่มีคนปั่น หรือๆๆ อีกหลายหรือที่ทำให้ไม่เป็นที่นิยม แบบนี้คือ…”พระย่อย”

ต่อไปหากอยากจะรู้ว่าพระเครื่ององค์ไหนคือหลัก-คือย่อย ก็แค่คอยดูจำนวนตังค์-ดูกำลังที่คนทั่วไปในสังคมจะจ่ายไหว “พระหลัก” ในทศวรรษนี้ก็มีตั้งแต่หลักหลายหมื่นยันหลักล้าน ถึงสิบๆ ล้านก็ยังมีให้เห็นเป็นเรื่องสามัญ แต่ถ้าค่านิยมราคาเป็นหลักพันลดหลั่นลงมาถึงหลักร้อย ก็ต้อง “พระย่อย” แน่นอน

พระที่ขึ้นทำเนียบเป็นพระหลักแล้วราคามักไม่ลง จะมั่นคงเพราะคนยึดมั่น ส่วนพระย่อยย่อมต้องคอยเวลา ให้คนรู้จัก-รู้ค่า พอเกียรติคุณเริ่มเป็นที่ประจักษ์ ผู้คนเริ่มทัก-ถามหา…ราคาก็จะเริ่มขยับ เซียนก็ยอมรับปรับให้เป็นพระหลักโดยดุษฎี

พระหลักค่านิยมแรงที่ทุกคนหมายปอง ในวันนี้ จึงล้วนเป็นของดีราคาถูกมาก่อนแทบทั้งสิ้น

คงจำเรื่องพระน้ำจิ้มที่เล่าไปแล้วได้นะครับ

เพชรย่อมต้องเป็นเพชรวันยังค่ำ พระดีก็ย่อมต้องเป็นพระดีตลอดกาล

เซียนมักพูดว่า… “วันนี้ไม่มาวันหน้าก็ต้องมา” แต่ถ้าผ่านไปหลายปีแล้วยังเงียบ คุณยังคิดจะเปรียบเทียบอีกมั้ย หรือต้องคอยให้เงินตราเป็นมาตรวัด

นี่คือคำถามที่ติดค้างขัดใจหลายคนในยุคโลกาภิวัตน์…วัตถุนิยม ของดีๆ ในประเทศไทยยังมีให้ค้นหาอีกมาก ไม่ยากที่เราจะได้ครอบครอง แค่เพียงเรารู้จักไตร่ตรองลองคิด

ก่อนจากขอฝากสุภาษิตคิดเมื่อกี้ดังนี้ครับ “พระหลัก (ทรัพย์) คือขวัญใจเศรษฐี พระดีพระ (แบงก์) ย่อยคือยาใจคนจน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน