เมืองแพร่เป็นเมืองเก่าแก่ โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองแพร่มีวัดวาอารามที่มีอายุหลายร้อยปีจำนวนมากมาย

“วัดพงษ์สุนันท์” เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีอายุมากกว่าพันปี

วัดพงษ์สุนันท์ ตั้งอยู่เลขที่ 1 ถนนคำลือ ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปีพ.ศ.2499

สร้างขึ้นเมื่อราวปีพ.ศ.1472 เป็นวัดสร้างขึ้นลำดับที่ 7 ของจังหวัดแพร่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าพรหม ซึ่งเป็นกษัตริย์ไทยองค์แรกที่ทรงกู้เอกราชได้จากขอม และได้ตั้งอาณาจักรไทยขึ้นใหม่ เมื่อราวพ.ศ.1400 ก่อนอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งเป็นยุคสร้างบ้านแปงเมือง

พ.ศ.1524 ขอมส่งกองทัพหลายหมื่นคนเข้ารุกรานอาณาจักรโยนกและเชียงแสน เข้าตีเมืองต่างๆ พร้อมกัน พลรัฐนคร (แพร่) ก็ถูกกองทหารขอมโจมตี และเข้าทำลายเมืองได้เผาวัดวาอาราม ลอกเอาทองคำที่หุ้มพระพุทธรูปและเจดีย์ไปเป็นจำนวนมาก วัดต่างๆ ในพลรัฐนครได้ถูกทำลายยับเยิน จนกลายเป็นวัดร้างไประยะหนึ่ง รวมถึงวัดพงษ์สุนันท์ด้วย

พ.ศ.1559 ท้าววังสุพลรวบรวมผู้คนเมืองพลเข้ามาโจมตีขับไล่ทหารขอมแตกพ่ายหนีไปจนหมดสิ้น แล้วสร้างเมืองบูรณะซ่อมแซมวัดขึ้นใหม่ ต่อมาขอมส่งกำลังมายึดอาณาจักรโยนก เชียงแสน และล้านนาอีกครั้งแล้วได้เปลี่ยนชื่อเมืองพล หรือพลรัฐนคร เป็นเมือง โกศัย หรือโกศัยนคร และวัดต่างๆ ก็ถูกทำลายลงอีกครั้งในปีพ.ศ.1650 ทำให้วัดพงษ์สุนันท์กลายเป็นวัดร้าง

ระหว่างปีพ.ศ.1984-2030 ซึ่งเป็นสมัยของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งล้านนา ผู้ครองนครเชียงใหม่ ทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยา ได้มาตั้งทัพที่เมืองแพร่เป็นเวลานานหลายปี เมืองแพร่กลายเป็นสนามรบและเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ ล้านนาและกรุงศรีอยุธยาต่างก็จะยึดครอง กว่าสงครามจะสงบเมืองแพร่ก็ถูกทำลายลงอีกครั้ง

พระเจ้าติโลกราชทรงโปรดปรานด้านศาสนาได้สร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา-สุโขทัย ให้พระนางหอมมุกข์ พระสนมเอก นำมาประดิษฐานไว้ในอุโบสถวัดพงษ์สุนันท์

พ.ศ.2101 พระเจ้าบุเรงนอง แห่งพม่ายกกองทัพมาโจมตีอาณาจักรล้านนา ส่งกองทัพเข้าตีทุกหัวเมือง เมืองแพร่ถูกพม่าเผาเมืองและวัดวาอารามต่างๆ รวมทั้งวัดพงษ์สุนันท์ด้วย นับแต่นั้นมาเมืองแพร่ยังคงมีศึกสงครามและเกิดภัยธรรมชาติต่างๆ จึงทำให้วัดพงษ์สุนันท์เป็นวัดร้างอีกครั้ง

จนถึงปีพ.ศ.2460 มีผู้ไปพบวัดร้างอยู่ในป่าโปร่งชาวบ้านเรียกว่า “ปง” ซึ่งเรียกวัดนี้ว่า “วัดปงสนุก” หรือบางครั้งก็เรียกสั้นๆ ว่า “วัดสีนุ้ก”

เมื่อปีพ.ศ.2472 ผนังวิหารได้พังทลายลงมาเพราะเกิดน้ำท่วม ทำสังฆกรรมไม่ได้หลายปี หลวงพงษ์พิบูลย์ (พรหมวงศ์พระถาง) และภรรยาของท่าน คือ เจ้าสุนันตา มหายศปัญญา จึงได้เป็นผู้นำในการก่อสร้างวิหารใหม่ และพระมหาโกศล อัคควีโร เปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดพงษ์สุนันท์” ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จากเจ้าไข่มุกต์ และเจ้าทองด้วงวงศ์บุรี ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของหลวงพงษ์พิบูลย์และแม่เจ้าสุนันตาวงศ์บุรี ร่วมกับคณะศรัทธาทั่วไปอุปถัมภ์วัดนี้

พระครูโกวิทอรรถวาที เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน กล่าวว่า วัดพงษ์สุนันท์นับเป็นแหล่งเรียนรู้น่าศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ล้านนาไทย ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ชื่อว่า “พระเจ้าแสนสุข” มีอายุราว 568 ปี เสนาสนะภายในบริเวณวัดมี พระนอนองค์ใหญ่สีทองอร่าม ซุ้มประตูมงคล 19 ยอด มีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธรูปเก่าแก่สวยงาม

นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีวิหารแก้วองค์พระธาตุเจดีย์ 108 ยอดที่เป็นวิหารสีขาว ทั้งหลัง มีความหมายทางพุทธศาสนา คือ บูชาพระพุทธคุณ โดยวิหารหลังนี้มีพระธาตุเจดีย์ทั้งหมด 108 องค์ ซึ่งล้อมรอบด้วยกำแพงลูกแก้วทั้งหมด 108 ลูก เมื่อมองลูกแก้วสามารถเห็น “วิหารแก้วองค์พระธาตุเจดีย์ 108 ยอดกลับหัว” สวยงามและน่าอัศจรรย์มาก

ยังมีพระธาตุหนองเต่าคำ พญาเต่า ใต้ท้องพญาเต่ามีพระอุปคุต ซึ่งโบราณสถานในวัดล้วนแล้วแต่มีปริศนาธรรมทั้งสิ้น

ภายในวิหารมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ นามว่า “พระสุรัสวดีประทานพร” และองค์เล็ก ที่ทำจากไม้ขนุนทั้งองค์ มีภาพจิตรกรรม ฝาผนังเกี่ยวกับพระพุทธรูปในจังหวัดแพร่ ปีนักษัตร เป็นต้น ส่วนในองค์พระธาตุเจดีย์บรรจุ “พระสกุลดำคูณ”

หากมีโอกาสมาเยือนเมืองแพร่แวะเข้าเยี่ยมชมความสวยงามศิลปวัฒนธรรมโบราณของวัดพงษ์สุนันท์ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน