ราม วัชรประดิษฐ์

www.arjanram.com

ฉบับนี้มาว่ากันต่อเรื่องเบญจภาคีพระยอดขุนพลเนื้อชินองค์แรก พระร่วงหลังรางปืน จ.สุโขทัย ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น “จักรพรรดิแห่งพระยอดขุนพล เนื้อชิน”

ถ้ากล่าวถึงพระกรุเก่าที่เป็นยอดนิยมของจังหวัดและสร้างชื่อเสียงในระดับประเทศ ต้องยกให้ “พระร่วงหลังรางปืน” ซึ่งแตกกรุเมื่อประมาณปีพ.ศ.2493 บริเวณพระปรางค์ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือ “วัดพระปรางค์” โบราณสถานที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเพียงแห่งเดียวเท่านั้น และพระที่พบก็มีจำนวนเพียง 200 กว่าองค์ ส่วนใหญ่เป็นพระที่ชำรุดแตกหัก ที่สมบูรณ์สวยงามจริงๆ น้อยมาก

พระร่วงหลังรางปืนมีพุทธศิลปะสมัยลพบุรี แบบเขมรยุคบายน ในราวปีค.ศ.13 ซึ่งเป็นสมัยที่ขอมเรืองอำนาจและเข้าปกครองพื้นที่บริเวณนี้ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระพิมพ์ที่ “ขอม” เป็นผู้สร้างและบรรจุไว้ในพระปรางค์ องค์พระมีขนาดความสูงประมาณ 8 ซ.ม. และกว้างประมาณ 2.5 ซ.ม.

องค์พระประธานประทับยืน ปางประทานพร สวมหมวกออกศึกแบบโบราณที่เรียกว่า “หมวกชีโบ” ภายในซุ้มเรือนแก้ว ยอดซุ้มเป็นแบบ “ซุ้มกระจังเรือนแก้ว” ด้านหลังมีเอกลักษณ์เฉพาะ คือ “มีร่องกดลึกลงไปเป็นแนวยาวตลอดองค์พระ” จากการนำไม้กดหลังพิมพ์เพื่อให้ด้านหน้าติดเต็ม ซึ่งสมัยก่อนมักเรียกกันว่า “หลังกาบหมาก” หรือ “หลังร่องกาบหมาก”

ต่อมาปรากฏพุทธคุณทางแคล้วคลาดจากภยันตรายในเรื่องของปืน อีกทั้งร่องกาบหมากนั้นมีลักษณะคล้าย “ร่องปืนแก๊ป” จึงขนานนามใหม่ว่า “พระร่วงหลังรางปืน” มาถึงปัจจุบัน ลักษณะร่องรางยังแบ่งได้เป็นแบบร่องรางแคบและแบบร่องรางกว้าง

จุดสังเกตสำคัญอีกประการคือ จะปรากฏรอยเสี้ยนจากไม้ที่กดพิมพ์ทั้งสองแบบ แบ่งพิมพ์ย่อยได้ทั้งหมด 5 พิมพ์ ซึ่งพุทธลักษณะโดยรวมนั้นเหมือนกัน จะแบ่งแยกชื่อตามลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน อันได้แก่ พิมพ์ใหญ่ ฐานสูง, พิมพ์ใหญ่ ฐานเตี้ย, พิมพ์แก้มปะ, พิมพ์หน้าหนุ่ม และพิมพ์เล็ก

พระส่วนใหญ่ที่พบเป็นเนื้อชินตะกั่ว ผิวมีสีแดงเข้ม บางองค์ออกสีลูกหว้า หรือบางทีเรียก “ตะกั่วสนิมแดง” ซึ่งหากมีรอยระเบิดจะปะทุจากภายในเนื้อออกด้านนอก ถ้าเป็น “ของปลอม” มักใช้น้ำกรดกัดทำให้ปริจากด้านนอกเข้าด้านใน และเนื่องจากพระผ่านกาลเวลายาวนาน เมื่อส่องดูจะมีทั้ง “สนิมแดง” และ “สนิมมันปู” มีไขขาวแทรกจับเกาะแน่นแกะไม่ออก

ส่วน “ของปลอม” ใช้ของแหลมทิ่มเบาๆ ก็จะหลุดออก ลักษณะพิเศษที่น่าสังเกตคือ จะมีไขคลุมอีกชั้นหนึ่งและมีมากกว่าพระร่วงกรุอื่นๆ แต่ที่ได้รับความนิยมสูงจะเป็นเนื้อชินปนตะกั่วสนิมดำโบราณจากเมืองสวรรคโลก ที่เรียกว่า “สนิมมันปู” ซึ่งมีน้อยมาก

วิธีการดูพระร่วงหลังรางปืนนั้น ควรมีความรู้เรื่องศิลปะขอมหรือเขมร เพราะองค์พระแต่งองค์ทรงเครื่องตามหลัก “เทวราชา”

-พื้นผนังมีการจำหลักลวดลายงดงามมาก เพราะเป็นพระชั้นสูงเยี่ยงกษัตริย์

-ฝ่าพระหัตถ์ขวายกขึ้นแสดงปางประทานพร อยู่ในระดับเหนือพระอุระ

-ในองค์ที่สมบูรณ์เมื่อใช้กล้องส่องดูจะเห็นติ่งแซมบริเวณโคนพระอนามิกา (นิ้วนาง) แต่บางองค์สนิมเกาะอาจมองไม่ถนัด

-พระกรด้านซ้ายปล่อยทิ้งยาวแนบลำพระองค์

-เส้นนิ้วพระหัตถ์จะทาบลงเป็นเส้นตรงทับชายจีวรจนมองดูเป็นเส้นเดียวกัน อันเป็นจุดสังเกตสำคัญ

-ฝ่าพระบาทด้านขวาขององค์พระจะกางออกและแผ่กว้าง ส่วนฝ่าพระบาทด้านซ้ายจะงุ้มงอและจิกลง อันเป็นจุดสังเกตสำคัญอีกประการ บางทีเวลาพบจะเห็นฝ่าพระบาทชำรุดหรือมีรอยซ่อม ให้สำเหนียกไว้ว่า “อาจปลอม” เพราะเคล็ดลับสำคัญ ของการดูพระแท้คือ ถ้าจุดสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์มีรอยซ่อม ต้องระวังไว้ให้ดี

พระร่วงหลังรางปืน จ.สุโขทัย จะมีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกับ “พระร่วงหลังลายผ้า จ.ลพบุรี” พระยอดนิยมของจังหวัดลพบุรี ที่นับวันจะหาของแท้ได้ยากยิ่งเช่นกัน แต่ด้านหลังพระร่วงหลังลายผ้านั้นเป็น “ผ้ากระสอบ” กดแทนที่จะใช้แท่งไม้ครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน