พันธุ์แท้พระเครื่อง

ราม วัชรประดิษฐ์

 

พระปรกใบมะขาม พระพุทธสิหิงค์ ภปร 50 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็น “พระปรกใบมะขามหนึ่งเดียว” ที่ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร”, พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ในพิธี และยังได้ผ่านพิธีพุทธาภิเษกโดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นจากทั่วประเทศเป็นอย่างน้อยถึง 2 วาระ

นับเนื่องไปเมื่อปี พ.ศ.2527 ซึ่งเป็นโอกาสสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครบรอบกึ่งศตวรรษ (50 ปี) มหาวิทยาลัยมีมติจัดสร้างพระพุทธสิหิงค์ ภปร เนื้อทองล่ำอู่ ขนาดหน้าตัก 25 นิ้ว จำนวน 4 องค์ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย

แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นพระประจำมหาวิทยาลัย พระราชทานนามว่า “พระพุทธธรรมทิฐิศาสดา” โปรดให้ประดิษฐานประจำที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) 1 องค์ ศูนย์รังสิต 1 องค์ ศูนย์พัทยา 1 องค์ และสมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ 1 องค์ โดยพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธี ทรงพระสุหร่ายและทรงเททองหล่อพระพุทธรูปด้วยพระองค์เอง

การจัดสร้างวัตถุมงคลอื่นๆ เพื่อเป็นที่ระลึกและหารายได้ตั้งกองทุนด้านศาสนกิจ ศาสนศึกษา และสาธารณกุศลต่างๆ ประกอบด้วย พระบูชาพระพุทธสิหิงค์ ภปร เนื้อล่ำอู่แดง หน้าตัก 9 นิ้ว และ 5 นิ้ว, พระกริ่งและพระชัยวัฒน์ ภปร เนื้อนวโลหะ และพระปรกใบมะขาม พระพุทธสิหิงค์ ภปร เนื้อทองคำ, เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทองชนวนมาผสมกับทองชนวนสำคัญๆ อาทิ พระกริ่งสมเด็จสังฆราชแพหลายรุ่น, พระกริ่งหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, เหรียญหล่อหลวงปู่เทียม วัดกษัตราธิราช, พระกริ่งหลวงปู่เหรียญ วัดบางระโหง รวมทั้งแผ่นยันต์และผงวิเศษของเกจิอาจารย์ต่างๆ อีกมากมายหลายรูป

พิธีพุทธาภิเษก จัดขึ้น ณ หอประชุมใหญ่ ธรรมศาสตร์ ในวันที่ 17-18 ตุลาคม พ.ศ.2527 มีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานจุดเทียนชัย

พระเกจิ อาจารย์ร่วมปลุกเสกอธิษฐานจิต อาทิ พระธรรมปัญญาจารย์ (ทิม) วัดราชประดิษฐ์, พระญาณโพธิ (เข็ม) วัดสุทัศนเทพวราราม, หลวงพ่อทองอยู่ วัดท่าเสา, หลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอม, พระอาจารย์ผ่อง วัดจักรวรรดิราชาวาส, พระอาจารย์ทองใบ วัดสายไหม, พระปริยัติมุนี (ชูศักดิ์) วัดหงส์รัตนาราม, หลวงพ่อไพฑูรย์ วัดโพธินิมิต, หลวงพ่อพล วัดหนองคณฑี, หลวงพ่อพรหม วัดขนอนเหนือ, หลวงพ่อเฉลิม วัดพระญาติการาม, หลวงปู่ชื้น วัดญาณเสน, หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง, หลวงพ่อกล้วย วัดหมูดุด, หลวงพ่อแช่ม วัดบ่อพุ, หลวงพ่อเริ่ม วัดจุกกระเชอ, หลวงพ่อหยอด วัดแก้วเจริญ, หลวงพ่อจวน วัดหนองสุ่ม และ หลวงปู่เหรียญ วัดบางระโหง เป็นต้น

สำหรับ “พระปรกใบมะขาม พระพุทธสิหิงค์ ภปร” นั้น ยังไม่ได้นำออกให้เช่าบูชา พิธีพุทธาภิเษกที่ผ่านมาจึงนับเป็นวาระที่ 1 ต่อมาได้นำเข้าพิธีพุทธาภิเษกในวาระที่ 2 ณ หอประชุมใหญ่ ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2528 โดยพระเกจิอาจารย์ที่ร่วมปลุกเสกอธิษฐานจิตส่วนใหญ่เป็นชุดเดิมจากวาระที่ 1 จากนั้นจึงได้มีการนำออกมาให้เช่าบูชา

พระที่เหลือได้นำเข้าพิธีพุทธาภิเษกอีกครั้งเป็นวาระที่ 3 พร้อม “พระกริ่งธรรมศาสตร์ 60 ปี” ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2537 โดยกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ มาทรงเป็นประธานในพิธี และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานจุดเทียนชัย นอกจากนี้ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระ ได้เมตตาเข้าร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ พร้อมพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์รวม 9 รูป ปลุกเสกอธิษฐานจิตโดยพระเกจิอาจารย์ที่ร่วมปลุกเสกในวาระที่ 1 และ 2 เป็นส่วนใหญ่ รวมแล้วถึง 116 รูป

พระปรกใบมะขาม พระพุทธสิหิงค์ ภปร เป็นพระเครื่องขนาดเล็กมาก พิมพ์ทรงโค้งมนแบบเล็บมือ ยกขอบหน้า-หลัง ด้านหน้า จำลององค์พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญองค์หนึ่งของไทย ประทับนั่งเหนืออาสนะฐานบัว พื้นหลังเป็นม่านแหวก ด้านหลังประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” ล่างสุดจารึกอักษรไทย “๕๐ ปี มธ.”

พระปรกใบมะขาม พระพุทธสิหิงค์ ภปร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นพระปรกใบมะขามหนึ่งเดียวในกลุ่ม ที่ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” จึงถือเป็นพระเครื่องสำคัญรุ่นหนึ่งในรัชกาล ให้สังเกตโค้ดให้ดี จะมีทั้ง ตอกโค้ด 1 ตัว และ 2 ตัว “โค้ด 1 ตัว” ต้องเป็นตัว “นะ” ซึ่งเป็นโค้ดในพิธีพุทธาภิเษกวาระที่ 1 (50 ปี ธรรมศาสตร์) สำหรับ “โค้ด 2 ตัว” คือเพิ่มโค้ด “ธรรมจักร” จะเป็นพระที่ได้นำเข้าพิธีฯ ในวาระที่ 3 (60 ปี ธรรมศาสตร์) ด้วย ครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน