“อุดม ปู่จันทร์” เซียนพระหนุ่มใหญ่ ไฟแรง ชำนาญการในด้านพระเกจิคณาจารย์ยุคเก่า-พระยุคใหญ่ พระกรุสายสุพรรณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ความเลื่อมใสศรัทธา หลวงปู่หลิว ปัณณโก อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่แตงทอง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม พระเกจิชื่อดัง เจ้าตำรับ “เหรียญ พญาเต่าเรือน” อันเลื่องชื่อ

“ด้วยอาชีพของผมประกอบกิจการค้า ขายอยู่ จึงบูชารูปเหมือนเต่าหลวงปู่หลิวมาแขวน ทำให้กิจการค้าขายดีเจริญรุ่งเรือง”

เซียนอุดมบอกเล่าว่า “ในตอนปี 2536 มีโอกาสเข้าไปที่วัดไร่แตงทอง เข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่หลิว ได้วัตถุมงคลของท่าน จากนั้นก็บูชาเรื่อยมา ก่อนหน้าปี 2536 ผมก็สะสมแบบไร้จุดหมาย กระทั่งมาเจอพระชุดหลวงปู่หลิว ทำให้เกิดความศรัทธา และหันมาสะสมเหรียญหลวงปู่หลิวอย่างจริงจัง ตั้งแต่รุ่นแรกที่ท่านสร้าง”

พื้นเพเดิมเป็นชาวเมืองราชบุรี แต่ด้วยพื้นที่เชื่อมติดกับจ.นครปฐม ทำให้เซียนอุดมได้ยินชื่อเสียงหลวงปู่หลิว

วัตถุมงคลของหลวงปู่หลิว มีหลายรูปแบบ แต่ที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดคือ พญาเต่าเรือน ซึ่งท่านศึกษาวิชานี้มาจากหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

หลวงปู่หลิวอยู่แบบสมถะเรียบง่าย ในกุฏิไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวก อาหารที่ขบฉันเน้นแบบง่ายๆ ทุกมื้อต้องมีผักต้มนิ่ม มะระขี้นก น้ำพริกรสไม่เผ็ด แกงเลียง ข้าวต้ม ผัดหมี่ซั่ว รวมทั้งชอบฉันหมากเป็นประจำ

โดยหลวงปู่หลิวบอกถึงเหตุผลในการสร้างเหรียญพญาเต่าเรือนว่า “ต้องการทำวัตถุมงคลให้แปลกและดี จึงนึกถึงเต่า เพราะว่าเต่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนยาว เต่าเป็นสัตว์มีศีลธรรม นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังเคยเสวยพระชาติเป็นเต่ามาแล้ว”

“ผมเริ่มจากอาชีพเกษตรกรแล้วมาทำการค้าขาย หลังจากที่ได้สะสมพระเครื่องหลวงปู่หลิว ก็มีซื้อขายแลกเปลี่ยนกับเพื่อนพ้องบ้าง ถ้าถามว่าเข้าสู่วงการพระเครื่องอย่างจริงจังเมื่อใด ก็น่าจะ 10 ปีหลังนั่นเอง เริ่มจากการจับกลุ่มกับเพื่อนพี่น้องที่นับถือหลวงปู่หลิว จนก่อตั้งมาเป็นชมรม รวมทั้งเป็นแอดมิน เพจของทีม ช่วงเข้ามาผมได้ เซียนพระ คือ กิตติ เมืองกาญจน์, จิ๋ว กำแพงแสน กล่าวได้ว่าเป็นลูกศิษย์หลวงปู่หลิวรุ่นแรก จากนั้นเซียนกิตติ ก็ชักชวนผมเข้ามาในวงการพระ”

เซียนอุดมกล่าวถึงหลักการดูพระเครื่องว่า “เราต้องได้เห็นพระองค์แท้ก่อน ถ้าเราไม่เคยเห็นของจริง เราจะไม่รู้เลยว่าพระแท้ๆ เป็นอย่างไร ในสมัยที่ผมหัดเล่นพระในช่วงแรก เราต้องศึกษาที่มาที่ไปของพระเกจิอาจารย์รูปนั้น ก่อนถึงกรรมวิธีการสร้างว่าเป็น อย่างไร รูปแบบเป็นแบบใด มีเนื้อและพิมพ์อะไรบ้าง จากนั้นก็เช่าพระจากคนที่มีความน่าเชื่อถือไว้ใจได้ นำมาศึกษาความเป็นธรรมชาติของพระนั้นๆ ถ้าเราไม่เข้าใจจุดตำหนิ ก็สอบถามเซียนพระที่เช่ามา”

“ต้องเห็นพระแท้จนเกิดความเคยชิน ถ้าเราเห็นพระแท้บ่อยๆ แล้วเมื่อใดเราเห็นพระเก๊ เราจะรู้ทันทีว่าเป็นพระเก๊ เพราะรูปแบบพิมพ์ใบหน้าขององค์พระจะไม่เหมือนกัน แค่คล้ายคลึงแต่ไม่ใช่ คือ ถ้าเป็นพระรูปเหมือนหลวงพ่อ เราต้องจำหน้าจำทรงจำพิมพ์ จำขนาด รุ่นปีที่จัดสร้าง เล่นหาเป็นที่นิยมหรือไม่”

อุดม ปู่จันทร์ แนะนำสำหรับผู้ที่สนใจพระเครื่อง อยากเดิน บนเส้นทางเซียนพระ ว่า “อันดับแรกต้องมีใจรัก และสนใจที่จะศึกษา วงการพระเครื่องนั้นเราต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆ ตลอดเวลา เพราะการทำพระเก๊ปัจจุบันทำได้เหมือนมาก จนบางครั้งแทบดู ไม่ออก ต้องเป็นผู้ชำนาญกันจริง ถึงจะแยกแยะออก ประการที่ 2 ต้องเป็นคนที่นอบน้อมถ่อมตน รู้จักผู้ใหญ่ของวงการพระเครื่อง เพราะคนในวงการพระเครื่อง เปรียบเสมียนครูบาอาจารย์ที่ให้ความรู้ในพระประเภทต่างๆได้อย่างดียิ่ง ประการสุดท้ายต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตในอาชีพ ไม่เอารัดเอาเปรียบ ที่สำคัญไม่เล่นพระเก๊เป็นอันขาด”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน