“ราม วัชรประดิษฐ์”

ตํานานพระพุทธรูปลอยน้ำองค์ที่ 3 ลอยมาตามลำน้ำแม่กลอง คือ “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม” พระประธาน ณ พระอุโบสถ วัดเพชรสมุทรวรวิหาร หรือวัดบ้านแหลม จ.สมุทรสงคราม ซึ่งบางตำนานก็ว่าชาวศรีจำปาได้พระพุทธรูปจากที่ “ชาวบ้านแหลม” จ.เพชรบุรี ทำหล่นไว้ 1 องค์ เมื่อครั้งมีพายุตอนหาปลา จึงต้องตั้งชื่อองค์พระและวัดเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้พบพระพุทธรูปลอยน้ำรายแรก

หลวงพ่อวัดบ้านแหลม พระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลือง ประทับยืนปางอุ้มบาตร ความสูงจากปลายนิ้วพระบาทถึงยอดพระเกศมาลา 170 ซ.ม. ขนาดเท่าคนจริง พุทธศิลปะผสมระหว่างสุโขทัยตอนปลายกับอยุธยาตอนต้นอันงดงามมาก พระเกศมาลาเป็นเปลวเพลิง จีวรเป็นแผงอยู่ด้านหลังมีแฉกมุข สังฆาฏิเรียบและพาดยาวลงมาถึงพระชงฆ์ ข้อพระกรทั้งสองข้างทำเป็น 2 ท่อน (สวมใส่ได้) ฐานรองตอนบนเป็นดอกบัวบาน ตอนล่างหักมุข 12 มุข

เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะชาวเมืองแม่กลอง รวมไปถึงพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ก็ทรงให้ความเคารพศรัทธา เสด็จฯ นมัสการอยู่เป็นเนืองนิตย์ อาทิ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ และเครื่องทรงเป็นพุทธบูชา และสมเด็จเจ้าฟ้า ภานุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ถวายบาตรแก้วสีน้ำเงิน เป็นต้น

กิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของ “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม” นั้น เป็นที่กล่าวขวัญกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ เริ่มจากเมื่อคราวอาราธนาองค์พระจนมาประดิษฐาน ณ วัดบ้านแหลม (วัดศรีจำปา) ซึ่งเดิมเป็นป่ารกชัฏ ก็มีการพัฒนาเรื่อยมาจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังปรากฏพุทธคุณโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ขอพร ทั้งเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ค้าขาย เมตตามหานิยม และแคล้วคลาดจากอุบัติเหตุต่างๆ ชื่อเสียงยิ่งเลื่องลือเมื่อคราวเกิด “อหิวาตกโรค” ระบาดในเมืองไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ.2416


จึงไม่น่าแปลกใจที่วัตถุมงคลหลวงพ่อวัดบ้านแหลม มีการจัดสร้างกันหลายแบบหลายประเภทมาตั้งแต่อดีตสืบถึงปัจจุบัน ซึ่งล้วนได้รับความนิยมสะสมของบรรดาพุทธศาสนิกชนและในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญมาโดยตลอด โดยเฉพาะ “เหรียญหล่อรุ่นแรก ปี 2459” และ “เหรียญปั๊มรุ่นแรก ปี 2460” ที่มีค่านิยมสูงขึ้นตามกาลเวลา ผู้บูชาก็ต่างหวงแหนยิ่ง ไม่ค่อยพบเห็นของแท้กันนัก

กล่าวถึงเหรียญปั๊มรุ่นแรก ปีพ.ศ.2460 ที่เรียกว่าสุดยอดแล้วนั้น จากพิมพ์เท่าที่พบ 3 พิมพ์ คือ พิมพ์แหวกม่าน รูปไข่ หลังตัวหนังสือ, พิมพ์รูปไข่ หลังยันต์ห้า และพิมพ์ใบเสมา หลังตัวหนังสือ หนึ่งพิมพ์ในนั้นเรียกได้ว่าเป็น “สุดยอดแห่งสุดยอด” เลยทีเดียว

เพราะนอกจากจะเป็นเหรียญจำลองพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชา ยังได้สุดยอดพระเกจิเมืองแม่กลองในยุคนั้นร่วมอธิษฐานจิต ทั้งความงดงามเข้าตากรรมการ ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน “เบญจภาคีเหรียญพระพุทธยอดนิยม” อีกด้วย นั่นก็คือ “เหรียญปั๊มรุ่นแรก ปีพ.ศ.2460 พิมพ์แหวกม่าน รูปไข่ หลังตัวหนังสือ” ครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน