เมื่อกล่าวถึงพระป่าสายวิปัสสนากรรม ฐานแล้ว หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล นับเป็นพระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติชอบรูปหนึ่งแห่งยุค

“พระครูวิเวกพุทธกิจ” หรือ “หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล” พระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี บูรพาจารย์สายพระป่า และอาจารย์ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

หลวงปู่เสาร์ เป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปในทางสมถะวิปัสสนา มีความเพียรเป็นเลิศ มีความสงบเสงี่ยม กิริยามารยาทเรียบร้อย สุขุม พูดน้อย และพอใจแนะนำสั่งสอนผู้อื่นในทางนั้นด้วย เป็นผู้ใฝ่ใจในธุดงควัตรหนักแน่นในพระธรรมวินัย ชอบวิเวกและไม่ติดถิ่นที่อยู่ เดินธุดงค์ไปหาสถานที่เจริญสมณธรรมตามชายป่าดงพงไพรภูเขาต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและประเทศลาว

นามเดิมชื่อ เสาร์ พันธ์สุรี เกิดเมื่อวันที่ 2 พ.ย.2402 ที่บ้านข่าโคม ต.ปะอาว อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

เมื่ออายุ 15 ปี บรรพชา ณ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

มีความวิริยอุตสาหะขยันขันแข็ง ตั้งใจทำกิจการงานของวัด ทั้งการท่องบ่นสาธยายมนต์ เรียนมูลน้อย มูลใหญ่ มูลสังกัจจายน์ ศึกษาทั้งการอ่านการเขียนอักษร ไทยน้อย ไทยใหญ่ และอักขระขอม จนชำนาญคล่องแคล่วทุกอย่าง

อายุ 20 ปี อุปสมบท ที่วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ และพำนักอยู่ที่วัดใต้ ซึ่งเป็นคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย

พรรษา 10 ศึกษาเล่าเรียนจนได้เป็น ญาคู คือ ครูสอนหมู่คณะทั้งพระภิกษุและฆราวาส ชาวบ้านเรียกท่านว่า ญาคูเสาร์

ต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านเทวธัมมี (ม้าว) พระเถระฝ่ายธรรมยุติกนิกาย สำนักวัดศรีทอง และได้ขอทัฬหิกรรม ญัตติบวชใหม่เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ณ อุโบสถวัดศรีทอง (ปัจจุบัน คือ วัดศรีอุบลรัตนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี) โดยมี พระครูทา โชติปาโล ซึ่งต่อมาได้รับสมณ ศักดิ์ที่ พระครูสีทันดรคณาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ทั้งนี้ ยังได้นำคณะสงฆ์พระภิกษุสามเณรในวัดใต้ ทั้งหมดญัตติกรรม เป็นคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ด้วยเหตุนี้ วัดใต้ หรือ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ จึงกลายเป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต นับแต่นั้นเป็นต้นมา

หลังจากญัตติเป็นพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตแล้ว ท่านได้ศึกษาธรรมและข้อวัตรปฏิบัติจากท่านเทวธัมมี (ม้าว) พระเถราจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระแห่งเมืองอุบลราชธานีในขณะนั้น และรีบเร่งประกอบความเพียรในด้านวิปัสสนาธุระ ยึดมั่นในหลักธุดงควัตร 13 บำเพ็ญเพียรสมณธรรม

เมื่อมีความรู้ความเข้าใจขึ้นเป็นลำดับ จุดประกายให้เกิดความคิดว่า การที่ปฏิบัติภาวนา แม้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ทางที่ดี ควรจะออกไปอยู่ป่าดง หาสถานที่สงบ จิตใจคงจะสงบยิ่ง

ดังนั้น ท่านจึงออกธุดงค์มุ่งสู่ป่าเขาลำเนาไพร ภายหลังจากหลวงปู่เสาร์ไปอยู่ป่าดงฝึกจิตฝึกใจ เจริญศีล สมาธิ ปัญญา ท่ามกลางสิงสาราสัตว์ ในหุบเขาได้หลายพรรษา เป็นเวลาอันสมควรแล้ว ท่านกลับมาเปิด “สำนักปฏิบัติธรรม วัดเลียบ อ.เมืองอุบลราชธานี”

ลูกศิษย์ทุกรูปหรือฝ่ายฆราวาสทุกคนในสมัยนั้น จะถือเอาข้อปฏิบัติวิปัสสนาเป็นวิชาเอก คือ เมื่อท่านได้อบรมให้เป็นที่เข้าใจแล้ว จะส่งเสริมลูกศิษย์ทุกรูปให้ถือข้อธุดงควัตร มุ่งสู่ดงป่า

จุดประสงค์ใหญ่ ก็เพื่อความรู้แจ้งในธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

พ.ศ.2439 หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อุปสมบทและมาจำพรรษา ณ วัดเลียบ และถวายตัวเป็นศิษย์เรียนพระกรรมฐานกับหลวงปู่เสาร์

หลวงปู่เสาร์ กับหลวงปู่มั่น ออกธุดงค์มุ่งปฏิบัติเพื่ออรรถธรรม ด้วยศีลาจารวัตรอันงดงาม และพระธรรมที่ปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา

กล่าวได้ว่า ท่านให้กำเนิดศาสนทายาทไว้มากมาย พระป่าสายกรรมฐาน ต่างนิยมชมชอบในแบบอย่างของบูรพาจารย์ทั้งสอง ต่างเข้าหาฝากตัวเป็นศิษย์ เพื่อศึกษาหาความรู้ อาทิ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาโม, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่หลุย จันทสาโร, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่แหวน สุจิณโณ, หลวงปู่ชา สุภัทโท ฯลฯ

หลวงปู่เสาร์ ละสังขารอย่างสงบ เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2485 ที่อุโบสถวัดอำมาตยาราม นครจำปาสัก (ปัจจุบัน คือ ส่วนหนึ่ง ของแขวงจำปาสัก ประเทศลาว) สิริอายุ 82 ปี พรรษา 62 คณะศิษย์ได้นำสรีระ ของท่านกลับมา ณ วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

ออกพรรษา พ.ศ.2486 คณะศิาย์จึงได้จัดพิธีณาปนกิจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน