แทน ท่าพระจันทร์

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วัดตรีทศเทพวรวิหาร กทม. มีพระกริ่งสำคัญที่มีชื่อว่า “พระกริ่งพระประธาน” หรือที่นักนิยมพระเครื่องมักเรียกว่า “พระกริ่งวัดตรีฯ” พระกริ่งรุ่นนี้มีพุทธลักษณะคล้ายๆ กับพระกริ่ง 7 รอบของวัดบวรฯ ความเป็นมาเป็นอย่างไรเรามาศึกษากันดีกว่านะครับ

วัดตรีทศเทพวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร (พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์-ต้นราชสกุลสุประดิษฐ์ ณ อยุธยา) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างขึ้นใกล้วังของพระองค์

หลังจากทรงกำหนดและเริ่มงานเพียงเล็กน้อยก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน ในปี พ.ศ.2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ (พระองค์เจ้านพวงศ์-ต้นราชสกุลนพวงศ์ ณ อยุธยา) พระราชโอรสดำเนินการก่อสร้างต่อ

แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ก็มาสิ้นพระชนม์อีกพระองค์หนึ่ง ในปี พ.ศ.2410 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงครามเป็นแม่กองก่อสร้างจนแล้วเสร็จ

ทรงสร้างพระพุทธปฏิมาประธานถวายในพระอุโบสถ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร 2 องค์ เพื่ออุทิศฉลองพระองค์กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร และกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ พระราชโอรสประดิษฐานไว้สองข้างพระพุทธปฏิมาประธาน พระราชทานวิสุงคามสีมา สถาปนาเป็นพระอารามหลวง แล้วพระราชทานนามว่า “วัดตรีทศเทพวรวิหาร” หมายถึงวัดที่เทพ 3 องค์สร้างขึ้น

ต่อมาในปี พ.ศ.2491 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) จึงโปรดให้จัดสร้าง พระกริ่งพระประธาน สำหรับผูกพัทธสีมาวัดตรีทศเทพ โดยทำพิธีหล่อที่บริเวณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2491 เป็นวาระแรก

พระกริ่งที่หล่อเป็นแบบพระประธานในโบสถ์ปางมารวิชัย มีครอบน้ำมนต์ที่พระหัตถ์ซ้าย จึงเรียกว่า “พระกริ่งพระประธาน” ฐานมีบัวด้านหน้า 9 กลีบ ด้านหลังมีบัว 2 กลีบ เทหล่อแบบเทตัน แล้วเจาะรูใต้ฐาน ขนาดประมาณเท่าแท่งดินสอ บรรจุเม็ดกริ่งอุดด้วยทองชนวนเนื้อเดียวกัน แล้วแต่งตะไบจนแทบมองไม่เห็นรูบรรจุเม็ดกริ่ง วรรณะออกเหลืองอมขาวเล็กน้อย

พัทธสีมาวัดตรีทศเทพฯ ได้ประกอบพิธีผูกเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2492 ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระสังฆราชพระกริ่งรุ่นนี้โปรดให้ประกอบพิธีสวดมนต์บริกรรมที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2492

พระกริ่งพระประธานนี้ ผู้นิยมพระเครื่องมักจะเรียกกันว่า “พระกริ่งวัดตรีฯ” พระกริ่งรุ่นนี้จะมีพุทธลักษณะคล้ายกับพระกริ่ง 7 รอบ ปี พ.ศ.2499 ของวัดบวรฯ แตกต่างกันที่พระหัตถ์ของพระกริ่ง 7 รอบจะไม่มีครอบน้ำมนต์ และที่บัวด้านหลังของพระกริ่ง 7 รอบจะมีตัวเลข ๗ ปรากฏอยู่

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระกริ่งพระประธาน หรือพระกริ่ง วัดตรีฯ มาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน