พระร่วงนั่งหลังลิ่ม กรุวัดช้างล้อม

 

แทน ท่าพระจันทร์

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย เป็นวัดเก่าแก่ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในศิลาจารึกกล่าวไว้ว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงพบพระบรมสารีริกธาตุ จึงได้สร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ณ กลางเมืองศรีสัชนาลัย โดยสร้างเป็นองค์พระเจดีย์ขนาดใหญ่ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม 2 ชั้น

ด้านบนเป็นองค์พระเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ที่ฐานสี่เหลี่ยมชั้นล่าง มีรูปปั้นเป็น รูปช้างอยู่รายรอบทั้ง 4 ด้าน ชั้นที่ 2 เป็นซุ้มคูหามีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายในซุ้มทั้ง 4 ทิศ ทิศละ 5 องค์ รวม 20 องค์ วัดช้างล้อมเป็นวัดขนาดใหญ่ อาจารย์หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ทรงอธิบายว่า “พระพุทธรูปปูนปั้นในคูหารอบพระเจดีย์ วัดช้างล้อม สร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นศิลปะสมัยสุโขทัยยุคต้นพุทธศตวรรษที่ 19”

ครับจากการบูรณะโบราณสถานของสุโขทัย และมีการลักลอบขุดกรุพระ ได้พบพระเครื่องของกรุวัดช้างล้อมชนิดหนึ่งเป็นพระเนื้อชินเงิน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย ต่อมาเรียกกันว่า “พระร่วงนั่งหลังลิ่ม” และได้รับความนิยมกันมาก องค์พระเป็นศิลปะแบบอู่ทองยุคต้น องค์พระชะลูด มีไรพระศก มีรัดประคด พระเกศสั้นแบบฝาละมี ซึ่งเป็นศิลปะแบบอู่ทองยุคต้น ส่วนที่ด้านหลังเป็นรอยเว้าลง ไปเป็นร่องราง ลักษณะคล้ายลิ่ม จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกที่ว่า “พระร่วงนั่งหลังลิ่ม” เนื้อพระที่พบเป็นพระเนื้อชินเงิน

พระร่วงนั่งหลังลิ่ม มีการพบที่กรุแก่งสารจิตในครั้งต่อมาอีก และที่มีรูปลักษณ์คล้ายๆ กันที่กรุวัดเขาพนมเพลิงอีกกรุหนึ่ง แต่ที่พบในกรุวัดเขาพนมเพลิงจะเป็นแบบหลังตัน องค์พระก็จะมีขนาดย่อมลงมาเล็กน้อย พระของ กรุแก่งสารจิตและของกรุวัดเขาพนมเพลิงจะมีคราบปรอทจับมากกว่าของกรุวัดช้างล้อม สังเกตได้ง่ายๆ ว่า ถ้าเป็นของกรุวัดช้างล้อมผิวของพระจะดำทั้งองค์ มักพบร่องรอยการผุระเบิดอยู่บ้าง

ในส่วนของพระร่วงนั่งหลังลิ่มด้านหลังก็มีเอกลักษณ์ของร่องราง และใช้เป็นจุดสังเกตพระแท้ปลอมได้ คือ ที่ด้านหลังของพระจะปรากฏเป็นเส้นเสี้ยนวิ่งเป็นแนวยาวลงมาด้านล่าง ตรงส่วนบริเวณลำคอของพระที่ด้านหลังก็จะมีเส้นเสี้ยนวิ่งขวางอยู่ด้านบนของร่องด้วย

เท่าที่สังเกตดูการสร้างพระร่วงนั่งหลังลิ่มนั้นน่าจะเป็นการเทแบบเบ้าประกบด้านหน้าด้านหลัง และจะปรากฏเดือยชนวนที่ด้านใต้ฐานขององค์พระทุกองค์ เห็นชัดหรือไม่ก็แล้วแต่องค์ไปครับ จุดต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นจุดสังเกตที่เป็นร่องรอยของธรรมการสร้างพระในสมัยนั้นๆ ได้ และสามารถใช้เป็นจุดสังเกตของพระแท้พระปลอมได้ครับ

พระร่วงนั่งหลังลิ่ม กรุวัดช้างล้อม สุโขทัย เป็นพระเครื่องที่ได้รับความนิยมมาแต่โบราณแล้ว ดังนั้นพระปลอมก็ย่อมมีมานานแล้วเช่นกัน ดังนั้นการเช่าหาก็ต้องพิจารณากันให้ดีหน่อยครับ แต่ของปลอมก็ปลอมวันยังค่ำครับ จะทำได้ดีแค่ไหน ก็ไม่สามารถย้อนยุคได้เหมือน 100% ถ้าเราไม่ประมาทและหาจุดสังเกตให้ดี ก็จะจับพิรุธได้ครับ

วันนี้ผมได้นำรูปพระร่วงนั่งหลังลิ่ม กรุวัดช้างล้อม จากหนังสืออมตพระกรุอันล้ำค่าของไทยมาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน