คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง

“กาลเวลาของความผูกพัน ความสัมพันธ์ ก่อเกิดความกลมกลืนทางเชื้อชาติ ทางวัฒนธรรม ความเชื่อ และความศรัทธา”

เนื่องจากปี 2560 นี้ กำหนดวันขึ้นปีใหม่ของจีน หรือ “วันตรุษจีน” มาอยู่ในเดือนมกราคมเช่นกัน สำหรับประเทศไทยนั้น ถือเป็นวันสำคัญยิ่งอีกวันหนึ่งของชาวไทยพุทธด้วยเช่นกัน โดยสังเกตได้จาก “วัดจีนและศาลเจ้าต่างๆ” ที่มีอยู่ทั่วประเทศ จะเนืองแน่นไปด้วยผู้คน ทั้งคนจีนและคนไทยเชื้อสายจีน รวมทั้งชาวไทยพุทธอย่างเราๆ ก็ไปร่วมกราบไหว้ขอพรด้วยเช่นกัน … ด้วยศรัทธาที่กลมกลืนมาช้านาน จนกลายเป็นหนึ่งในประเพณีนิยม

เป็นที่ทราบกันดีว่า ตั้งแต่โบราณกาลมานั้น ความสัมพันธ์ของไทยกับจีนมีมาช้านาน มีการอพยพของชาวจีนเชื้อสายต่างๆ เข้าสู่ประเทศไทยและตั้งรกรากแบบเป็นล่ำเป็นสันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนแผ่นดินใหญ่ ประกอบกับทางจีนเริ่มเกิดปัญหาการกบฏ สยามประเทศจึงกลายเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญในการอพยพเข้ามาของชาวจีนจำนวนมาก และชาวจีนเหล่านี้มีความขยันขันแข็งทำมาหากิน จึงเป็นกำลังศรัทธาสำคัญในการสร้างวัดวาอาราม


ด้วยชาวจีนเองก็มีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าและการสร้างศาลเจ้าเช่นเดียวกับที่คนไทยสร้างวัดและพระพุทธรูป ทำให้เกิด “ศาลเจ้าและเทพเจ้าจีน” อยู่แทบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งยังมีการสร้าง “วัดจีน” อย่าง “วัดมังกรกมลาวาส” หรือแม้แต่ “วัดไทย” เอง ก็ยังมีการสร้างศาลเจ้าภายในอาณาบริเวณ หรือสร้างเทพเจ้าประดิษฐานอยู่ด้วยเช่นกัน บางวัดก็เป็นรูปสลักหินจีนขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “อับเฉา” ที่ใช้ถ่วงไม่ให้ท้องเรือเอียง วางเรียงรายอยู่ตามวัด อย่างใน วัดสุทัศน์ วัดโพธิ์ หรือ “เทพทวารบาล” หน้าประตูทางเข้าวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งกลายเป็นเทพแบบจีน เรียกว่า “เสี้ยวกาง” คือ แทนที่จะเป็นรูปเทวดาถือพระขรรค์ กลับเป็นรูปยักษ์ถือหอกถือง้าวเหยียบอยู่บนสิงห์คล้ายรูปงิ้ว เป็นต้น

สืบถึงปัจจุบัน ด้วยกาลเวลาของความผูกพัน ความสัมพันธ์ ก่อเกิดความกลมกลืนทางเชื้อชาติ สร้างลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนมากมาย เกิดเป็นความกลมกลืนทางวัฒนธรรมความเชื่อถือศรัทธา ที่คนจีนก็สามารถเข้าวัดไทยไหว้พระทำบุญ คนไทยก็เข้าวัดจีนกราบไหว้เทพเจ้าขอพรได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี ต้องขอยกกรณี วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา แต่ครั้งโบราณ มาเป็นกรณีศึกษาที่เป็นการรวมความศรัทธาไทย-จีน จนถึงปัจจุบันกลายเป็นพุทธสถานที่มีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวจีนเข้ากราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดในวัด ทั้ง พระพุทธรูปของไทย และเทพเจ้าของจีน อย่างเนืองแน่นตลอดทั้งปี

เริ่มจาก “ตำนานการสร้าง” ที่เล่ากล่าวสืบต่อกันมาว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้ง กษัตริย์แห่งสยามประเทศ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักแด่พระนางสร้อยดอกหมาก ธิดาบุญธรรมของพระเจ้ากรุงจีน ซึ่งเป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทั้งในพระราชพงศาวดารของไทยและพระราชพงศาวดารเหนือของจีน เดิมชื่อเดิมว่า “วัดพแนงเชิง” ซึ่งแปลว่า พระนางผู้มีแง่งอน

สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญภายในวัดทางไทย คือ “หลวงพ่อโต” พระประธานในพระอุโบสถ ที่ชาวจีนเรียก “ซำปอฮุดกง” ทั้งยังมีเทพเจ้าตามคติความเชื่อจีนอีกหลายองค์ อาทิ เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก, ทีตี่แป่บ้อ (เทพยดาฟ้าดิน), เทพเจ้ากวนอู (เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์), พระสังกัจจายน์ (เทพเจ้าแห่งความสมบูรณ์พูนสุข), เจ้าแม่กวนอิม (เทพเจ้าแห่งความเมตตา) และเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ) เป็นต้น

วัดพนัญเชิง จึงถือเป็นต้นแบบหรือกรณีศึกษา ในการที่ชาวจีนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์ไทย และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างเชื้อชาติ ความเชื่อ และสถาปัตยกรรมของจีน-ไทย ได้อย่างกลมกลืน

ปัจจุบัน “เทพเจ้า” ตามคติความเชื่อของชาวจีน หลายๆ องค์ กลายเป็นที่เคารพศรัทธาของทั้งชาวไทยเชื้อสายจีนและชาวไทยพุทธ ที่นิยมไปกราบสักการะขอพรในโอกาสต่างๆ อย่างกว้างขวางครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน