คอลัมน์ อริยะโลกที่6

“หลวงปู่ชู ฉันทสโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดนาคปรก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เมื่อประมาณ 100 กว่าปีก่อนชาวบ้านในละแวกวัด รวมไปถึงเขตใกล้เคียง ต่างพากันกล่าวถึงเกียรติคุณของท่านมาจนกระทั่งทุกวันนี้

สิ่งที่ยังคงเหลือเป็นที่รู้จักกันอย่างดีคือ วัตถุมงคลต่างๆ ที่ท่านได้สร้างไว้ อาทิ เหรียญรูปเหมือนและเหรียญหล่อเนื้อสำริด

ตามประวัติบันทึกว่าบ้านเดิมท่านเป็นชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดเมื่อปี พ.ศ.2401 ครอบครัวมีอาชีพค้าขาย มีเรือโกลนล่องจากนครศรีธรรมราชเข้ามาค้าขายที่กรุงเทพฯ

ต่อมาโยกย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่จังหวัดธนบุรีในปี พ.ศ.2412 อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดทองนพคุณ อันเป็นสำนักสอนกัมมัฏฐานที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น

หลวงปู่ชูท่านได้ศึกษาทางด้านนี้ รวมทั้งจิตใจฝักใฝ่ในด้านพุทธาคมมาตั้งแต่รุ่นหนุ่ม จึงมุ่งมั่นศึกษาวิชาต่างๆ แต่ละแขนงจนกระทั่งเชี่ยวชาญ

ว่ากันว่า ท่านยังเป็นศิษย์เรียนวิชาจากสำนักวัดระฆังโฆสิตารามอีกด้วย ต่อมาท่านได้ลาสิกขาเพื่อสะดวกแก่การเดินทางไปศึกษาวิชาต่างๆ ท่านได้ไปขอศึกษาวิชากับอาจารย์พลับ วัดชีตาเห็น(วัดชีโพ้นในปัจจุบัน) จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น ได้ปรนนิบัติและศึกษาวิชากับพระอาจารย์พลับจนหมดสิ้น จึงลาพระอาจารย์เดินทางขึ้นเหนือไปยังจังหวัดพิจิตร-พิษณุโลก แต่ไม่ได้มีการบันทึกไว้ว่าท่านได้ไปศึกษาวิชากับพระอาจารย์รูปใด

อีกทั้งการเดินทางไปของท่านเป็นระยะเวลานานมากและยังขาดการติดต่อกับทางบ้าน บรรดาญาติพี่น้องพากันเข้าใจว่าท่านเสียชีวิตไปแล้ว พอท่านกลับมาเยี่ยมบ้านยังความปีติยินดีแก่ญาติพี่น้องเป็นอย่างยิ่ง บิดามารดาจึงจัดหาตบแต่งภรรยาให้ท่านอยู่กินกันจนมีบุตร-ธิดา รวม 3 คน เป็นชาย 2 หญิง 1

หลังจากท่านแต่งงานมีครอบครัว ท่านก็ได้ใช้ความรู้ทางด้านสมุนไพรใบยาและเวทมนตร์คาถาที่ได้ร่ำเรียนมา ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก เป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้าน พากันเรียกท่านว่า พ่อหมอชู

ภายหลังท่านเกิดเบื่อหน่ายในโลกียวิสัย มองเห็นความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร จึงได้อุปสมบทอีกครั้งหนึ่งที่วัดนางชี เขตภาษีเจริญ ต่อมาได้ย้ายมารับตำแหน่งเจ้าอาวาส

ให้การอบรมพระภิกษุ-สามเณรในวัดเป็นอย่างดี ท่านจะมักเทศนาให้ชาวบ้านฟังเสมอๆ ว่าให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม ประกอบอาชีพทำมาหากินสุจริต

สมัยก่อนวัดนาคปรกและบริเวณโดยรอบเต็มไปด้วยป่าครึ้ม ชาวบ้านประกอบอาชีพกสิกรรม ทำสวนผลไม้และปลูกหมากพลู มีมากจนคนขนานนามว่า ตลาดพลู การคมนาคมในสมัยก่อนยังใช้เรือเป็นพาหนะ ไฟฟ้า ประปายังไม่มี ตกค่ำก็พากันจุดไต้และตะเกียง เพื่ออ่านคัมภีร์และหนังสือธรรมะ เป็นกิจวัตรประจำวัน

เท่าที่มีการบันทึกเรื่องราวและคำเล่าขานของชาวบ้านแถบวัดนาคปรกที่เล่ากันต่อมาถึงวัตรปฏิบัติปฏิปทาของหลวงปู่ชู ว่ากันว่าท่านเป็นพระที่เรียบง่าย มีความรู้ความสามารถ แต่กลับมีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีคุณธรรมสูง เป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นที่รักเคารพของบรรดาศิษย์

มีเรื่องเล่ากันว่า หลวงปู่ชูเป็นพระอาจารย์รูปเดียวที่พระภาวนาโกศลเถระ หรือหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง กล่าวยกย่องว่าเก่งทางวิทยาคมและวิชาแพทย์แผนโบราณ ถ้ามีคนตลาดพลูไปขอของดีจากหลวงปู่เอี่ยมท่านจะบอกให้มาเอาจากหลวงปู่ชู ในทางกลับกันถ้ามีคนบางขุนเทียนมาขอของดีจากหลวงปู่ชู ท่านจะแนะนำให้ไปขอจากหลวงปู่เอี่ยม

ทั้งสองนี้ต่างก็ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ต่างก็รู้วาระจิตกันดี และมักจะไปมาหาสู่กันเสมอ

มรณภาพอย่างสงบเมื่อวันพุธ แรม 5 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ พ.ศ.2477 สิริอายุ 76 ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน