วัดพุทธวนาราม-สารคาม สานกวนข้าวทิพย์โบราณ

โดย เชิด ขันตี ณ พล

วัดพุทธวนาราม-สารคาม สานกวนข้าวทิพย์โบราณ – ก่อนเทศกาลออกพรรษา 1 วัน “วัดพุทธวนาราม” หรือ วัดป่าวังน้ำเย็น บ้านวังน้ำเย็น ต.เกิ้ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม โดย พระครูภาวนาชยานุสิฐ หรือ พระอาจารย์สุริยันต์ โฆสปัญโญ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของภาคอีสาน ประธานคณะสงฆ์วัดป่าวังน้ำเย็น และผู้ช่วย เจ้าอาวาสวัดมหาชัย พระอารามหลวง จ.มหาสารคาม พาญาติธรรมจัดกิจกรรม “สืบสานประเพณีกวนข้าวทิพย์ตามแบบประเพณีโบราณ หรือ กวนข้าวมธุปายาส”

งานบุญที่สืบทอดกันมาจากสมัยโบราณประเพณีกวนข้าวทิพย์ เป็นประเพณีที่สร้างความสามัคคีในกลุ่มชนในอันที่จะร่วมกันนำเอาวัสดุข้าวของต่างๆ มาร่วมทำบุญ เมื่อเสร็จและถวายเป็นพุทธบูชา ก็แบ่งปันกันไปรับประทาน เพื่อความเป็นสิริมงคล

วัดพุทธวนาราม-สารคาม สานกวนข้าวทิพย์โบราณ

ประเพณีกวนข้าวทิพย์ เป็นพระราชพิธีที่กระทำกันในเดือน 10 ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี และได้รับการฟื้นฟูครั้งใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 1 และมาละเว้นเลิกรา ไปในสมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 แล้วมาได้รับการฟื้นฟู อีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา

แต่ในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่จะจัดกันในเดือน 12 บางแห่งก็เดือนหนึ่ง ซึ่งจะถือเอาระยะที่ข้าวกล้าในท้องนามีรวงขาวเป็นน้ำนม ของแต่ละปี

วัดพุทธวนาราม เป็นวัดที่ยังคงพาญาติโยมรักษาประเพณีกวนข้าวทิพย์ต่อเนื่องกันมาทุกปี โดยจะทำก่อนวันออกพรรษา 1 วัน นอกจากจะเป็นพุทธบูชาและแบ่งปันให้ญาตินำไปกินแล้ว ยังแบ่งไว้สำหรับให้ญาติโยมได้ตักบาตรเทโวในเช้าแรกของวันออกพรรษา

วัดพุทธวนาราม-สารคาม สานกวนข้าวทิพย์โบราณ

พระอาจารย์สุริยันต์เล่าว่า ความสำคัญพิธีกวนข้าวทิพย์ได้ยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในหมู่ของชาวพุทธทั่วไป เพื่อระลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหตุการณ์ที่นางสุชาดาได้กวนข้าวทิพย์ในวันขึ้น 14 ค่ำ แล้วนำไปถวายพระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ 1 วัน โดยถือว่ามีผลานิสงส์มาก

บรรยากาศในวันก่อนออกพรรษาภายในวัดป่าวังน้ำเย็น จ.มหาสารคาม บริเวณลานด้านหน้าพระมหาเจดีย์ศรีมหาสารคาม บรรดาญาติโยมที่ทราบข่าวว่า วัดจะมีการประกอบพิธีกวนข้าวทิพย์ในช่วงเย็น ต่างเดินทางมารวมตัวกันอยู่ที่วัดหลายร้อยคน แต่ละคนล้วนมาด้วยใจศรัทธานำวัตถุดิบที่จะนำมากวนเป็นข้าวทิพย์ อาทิ นมข้นหวานใช้แทนน้ำนมโคสด น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาล ข้าวตอก ข้าวเม่า ธัญพืชต่างๆ ที่คั่วสุก ถั่ว งา ลูกเดือย เมล็ดแตง เผือกมัน เมล็ดบัว มะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อน ผลไม้สด ผลไม้แห้ง น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น

วัดพุทธวนาราม-สารคาม สานกวนข้าวทิพย์โบราณ

โดยนำมารวมกันไว้ภายในปะรำพิธี วัดได้จัดเตรียมกระทะใบบัวขนาดใหญ่ไว้รวม 5 ใบ เพื่อใช้กวนข้าวทิพย์ บรรดาญาติโยมได้นำวัตถุดิบบางส่วนที่เตรียมไว้ เทลงผสมกันในโอ่งมังกร ก่อนนำไปเทลงกวนในกระทะใบบัวทั้ง 5 ใบ

พิธีเริ่มโดยพระสงฆ์ 9 รูป สวดเจริญพระพุทธมนต์บริเวณลานด้านหน้าบนพระมหาเจดีย์ ต่อจากนั้นพระอาจารย์สุริยันต์นำสวด พาหุง ให้ญาติโยมในพิธีพากันกล่าวสาธุในใจ จากนั้นคณะสงฆ์เดินนำหน้าถือไม้กวนข้าวที่มีการลงอักขระยันต์ ตามด้วยสาวพรหมจรรย์หรือเด็กสาวพรหมจรรย์ และบรรดาญาติโยม ร่วมกันเดินเวียนรอบที่ประกอบพิธีกวนข้าวทิพย์ 3 รอบ แล้วเด็กสาวพรหมจรรย์ใช้ไม้กวนข้าวทิพย์กระทะละ 4-5 คน พอกวนไปได้ระยะหนึ่ง ก็เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์รับช่วงกวนข้าวทิพย์ต่อ

วัดพุทธวนาราม-สารคาม สานกวนข้าวทิพย์โบราณ

จากนั้น เป็นบรรดาญาติโยมที่เข้าคิวรอร่วมผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปกวนข้าวทิพย์กันด้วยศรัทธาอันแรงกล้าขณะทำพิธีกวนข้าวพระสงฆ์สวดอิติปิโส 9 จบ

การกวนข้าวทิพย์วัดป่าวังน้ำเย็น ดำเนินไปตลอดคืนและกว่าวัตถุดิบในกระทะจะคลุกเคล้าเข้ากันจนปั้นเป็นก้อนได้ ใช้เวลาเกือบ 10 ชั่วโมง พิธีกวนข้าวทิพย์โบราณอันศักดิ์สิทธิ์เป็นอันเสร็จสิ้นสมบูรณ์ จากนั้น วัดได้นำข้าวทิพย์มาจัดแบ่งใส่กล่องกว่า 300 กล่อง แจกญาติโยม และส่วนหนึ่งเตรียมไว้ตักบาตรพระสงฆ์ในช่วงเช้า

งานบุญนี้ถึงจะเหน็ดเหนื่อย แต่ด้วยศรัทธาอันแรงกล้าของคณะสงฆ์และญาติโยมที่ต้องการสืบสานประเพณีกวนข้าวทิพย์โบราณ ถวายเป็นพุทธบูชาในวันออกพรรษา งานก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เพราะความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันของวัดและบ้าน

จึงมั่นใจได้ว่าประเพณีการกวนข้าวทิพย์โบราณนี้ จะยังคงอยู่คู่ชุมชนชาวพุทธไปตราบนานเท่านาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน