ตำนาน‘พระธาตุดอยเล็ง’ พระธาตุสูงสุด-เมืองแพร่ : สดจากหน้าพระ

โดย สมฤทธิ์ ชัยพลังฤทธิ์

ตำนาน‘พระธาตุดอยเล็ง’ พระธาตุสูงสุด-เมืองแพร่ – “พระธาตุดอยเล็ง” ต.ช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดแพร่ ตั้งอยู่บนภูเขาสูงทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระธาตุช่อแฮ ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร และตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระธาตุจอมแจ้ง ประมาณ 4 กิโลเมตร

ตำนาน‘พระธาตุดอยเล็ง’

“พระมหาบุญชิต อติธัมโม” รองเจ้าคณะอำเภอเมืองแพร่ และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยเล็ง เล่าถึงความเป็นมาของพระธาตุดอยเล็ง ดังนี้

ตำนาน‘พระธาตุดอยเล็ง’

พระมหาบุญชิต อติธัมโม

พระธาตุดอยเล็งสร้างเมื่อพ.ศ.ใดไม่ปรากฏ หลักฐานแน่ชัด แต่มีมาคู่กับพระธาตุช่อแฮและพระธาตุจอมแจ้ง ตลอดถึงคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่อาศัยอยู่ในตำบลป่าแดงและช่อแฮได้เล่า ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จโปรดเวไนยสัตว์มาดอยลูกหนึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของดอยธชัคคะบรรพต เมื่อเสด็จมาถึงจวนใกล้แจ้ง (สว่าง) ณ ที่นั้นจึงเรียกว่าดอยจวนแจ้ง

ปัจจุบันจึงเรียกว่าพระธาตุจอมแจ้ง

หลังจากนั้น เสด็จมาทางทิศเหนือถึงดอยธชัคคะบรรพตได้มาประทับอยู่ ณ ที่นั้น โดยมีขุนลัวะอ้ายก้อม เป็นโยมอุปัฏฐาก จึงให้ขุนลัวะอ้ายก้อมออกไปสำรวจภูมิประเทศ เพื่อที่จะสร้างพระธาตุช่อแฮ ขุนลัวะอ้ายก้อมจึงขึ้นไปยืนบนภูเขาที่ทำเลดีจึงตกลงใจสร้างพระธาตุช่อแฮ แล้วพระพุทธองค์จึงทรงมอบเกศาธาตุไว้ที่ดอย ธชัคคะบรรพตลูกนั้น ปัจจุบันเรียกว่าพระธาตุช่อแฮ

ตำนาน‘พระธาตุดอยเล็ง’

ครั้นเมื่อสร้างพระธาตุช่อแฮเสร็จแล้ว ขุนลัวะอ้ายก้อม ระลึกถึงภูเขาที่ตนขึ้นไปยืนเล็งดูภูมิประเทศ จึงได้สร้างเจดีย์ขนาดเล็กเรียกว่า อุทเทสิกเจดีย์ บนภูเขาดังกล่าว ต่อมาชาวเมืองแพร่ ได้เรียกชื่อว่าพระธาตุดอยเล็ง ซึ่งเป็นพระธาตุที่ตั้งอยู่สูงสุดในบรรดาพระธาตุทั้งหมดในจังหวัดแพร่ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประทับอยู่บนดอยลูกหนึ่ง ซึ่งสูงกว่าดอยทั้งหมด จึงได้เอาบาตรวางไว้บนดอยลูกนั้น ปัจจุบันเรียกว่าดอยภูกวาง (ชาวบ้านได้เอาก้อนหินใส่จนเต็มรอยบาตร) แล้วจึงประทับแลดูดอยอีกลูกหนึ่ง (ภาษาท้องถิ่นของภาคเหนือ คือ เล็งผ่อ) ซึ่งอยู่ใกล้กับดอยภูกวางที่วางบาตร

พระองค์จึงได้ประทับแลดูภูมิประเทศของเมืองโกศัยหรือเมืองแพร่ ทรงตรัสว่า “ที่นี่เป็นที่น่ารื่นรมย์เหมาะแก่การสร้างบ้านสร้างเมือง เพราะมีแม่น้ำยมไหลผ่าน” จึงให้ชื่อดอยลูกนี้ว่า ดอยเล็ง

บางตำนานเล่าว่า เจ้าเมืองเล็งดูเพื่อสร้างพระธาตุช่อแฮและเมืองแพร่ เนื่องจากเป็นดอยที่สูงสุด สามารถมองเห็นทิวทัศน์และภูมิประเทศได้ถึง 3 อำเภอ คือ อ.สูงเม่น, อ.เมืองแพร่, อ.ร้องกวาง ของจังหวัดแพร่ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ใครที่มานมัสการพระธาตุช่อแฮแล้ว ถ้าไม่ตั้งใจดูจะไม่สามารถมองเห็นพระธาตุดอยเล็ง

ตำนาน‘พระธาตุดอยเล็ง’

พ.ศ.2540 พระมหาวิชิต อติธัมโม ดำเนินการบูรณะพระธาตุดอยเล็ง ด้วยความเห็นชอบของพระครูโกศลสมณคุณ เจ้าคณะเมืองแพร่, พระครูอุดมขันติคุณ เจ้าคณะตำบลป่าแดงเขต 2 และฝ่ายบ้านเมือง มี นายนรินทร์ พานิชกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่, นายเจริญสุข ชุมศรี นายอำเภอเมืองแพร่, นายสถิตย์ มุ้งทอง กำนันตำบลป่าแดง, นายสุคนธ์ ผุดผ่องพรรณ กำนันตำบลช่อแฮ ได้บูรณะพระธาตุดอยเล็ง เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2540 ซึ่งมี นายเสนาะ จันทร์สวัสดิ์ เป็นช่างบูรณะพระธาตุ

ซึ่งพระธาตุใช้เวลาบูรณะ 2 เดือน 8 วัน เมื่อบูรณะแล้วเสร็จ จึงได้ทำพิธียกฉัตร ยอดพระธาตุดอยเล็ง เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2540 ซึ่งได้รับการอุปถัมภ์ทุนจาก พระราชนันทาจารย์ (หลวงพ่อผล อักกโชติ) เจ้าอาวาสวัด เวตวันธรรมาวาส (วัดเชิงหวาย) เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ

ขณะนี้พระธาตุดอยเล็ง ได้รับการพัฒนามาโดยลำดับ สามารถมองเห็นได้ถึงสามอำเภอ คือ อ.สูงเม่น, อ.เมืองแพร่, อ.ร้องกวาง และเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ของจังหวัดแพร่อีกแห่งหนึ่ง ผู้แสวงบุญสามารถนำรถขึ้นบนพระธาตุได้โดยสะดวกและปลอดภัย

พระธาตุดอยเล็ง มีความสัมพันธ์กับ พระธาตุช่อแฮ ยาวนานกว่า 600 ปี งานไหว้พระธาตุบนดอยเล็งจะมีในเดือน 6 เหนือของทุกปี พร้อมงานประจำปีของพระธาตุช่อแฮ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน