หลวงพ่อสือ พรหมโชโต วัดหนองขุนชาติ อุทัยธานี : อริยะโลกที่ 6

“วัดหนองขุนชาติ” ตั้งอยู่เลขที่ 114 หมู่ที่ 1 ต.หนองสรวง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างในปี พ.ศ.2364 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.2443

พื้นที่ตั้งวัดเป็นเนินสูง ประกอบด้วย เสนาสนะต่างๆ อาทิ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์กว้าง วิหาร มณฑป ฌาปนสถาน สระน้ำ กุฏิสงฆ์ จำนวน 11 หลัง เป็นต้น

ภายในวัดมีปูชนียวัตถุสำคัญ พระพุทธ ชินสีห์ (จำลอง) ประดิษฐานเป็นประธานในอุโบสถ, พระพุทธชินราช (จำลอง) ประดิษฐาน ภายในวิหาร พ่อพิน-แม่ชม สะอาด, พระศรีศาสดา (จำลอง) ประดิษฐานภายในวิหาร หลวงพ่อศุข, รอยพระพุทธบาท ประดิษฐานภายในมณฑป และรูปหล่ออดีตเจ้าอาวาส หลวงพ่อศุข หลวงพ่อตุ้ม และหลวงพ่อสือ ประดิษฐานภายในวิหารหลวงพ่อศุข

สำหรับ “หลวงพ่อสือ พรัหมโชโต” อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองขุนชาติ รูปที่ 3

มีนามเดิม “สือ แซ่เตีย” ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็นเศรษฐพานิช เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 1 ธ.ค. 2414 ที่บ้านทุ่งทอง หมู่ที่ 1 บ้านเกาะกร่าง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี บิดาเป็นชาวจีนชื่อ นายบี แซ่เตีย มารดาเป็นคนไทยชื่อ นางแจ้ง

ชีวิตวัยเยาว์อายุ 7-8 ขวบ มารดาได้นำไปฝากที่วัดไว้กับพระอาจารย์เกิด วัดป่าช้า ต.บ้านเก่า อ.หนองฉาง เพื่อเรียนหนังสือ ภายหลังพระอาจารย์เกิดมรณภาพ จึงได้เรียนหนังสือทั้งไทยและขอม จากพระใบ ฎีกาแสง เจ้าอาวาสวัดรูปต่อมา

เมื่ออายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบทในปี พ.ศ.2434 ณ พัทธสีมาวัดทุ่งทอง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี โดยมีพระปลัดคลัง วัดทุ่งทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ท้วม วัดทุ่งทอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูอุทานธรรมนิเทศ (ศุข) วัดหนองขุนชาติ (ขณะนั้นยังเป็นอธิการ) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

พระสือได้ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่สำนักวัดทุ่งทองกับพระปลัดคลังและพระอาจารย์ท้วม เป็นเวลา 5 พรรษา ก่อนย้ายไปอยู่กับพระปลัดเสือ สำนักวัดแจ้ง ต.อุทัยเก่า อ.หนองสรวง ศึกษาเล่าเรียนภาษาบาลีมูลกัจจายนะ ก่อนย้ายกลับมาอยู่สำนักวัดทุ่งทอง เพื่อหัดเป็นคู่สวด สวดนาคคู่กับพระอาจารย์คำ วัดห้วยพระจันทร์ จนมีชื่อเสียงโด่งดัง

หลังจากพระอาจารย์ท้วมและพระปลัดคลังมรณภาพ พระครูอุทานธรรมนิเทศ (ศุข) ได้เป็นประธานจัดการปลงศพ พระอาจารย์ทั้ง 2 เป็นการใหญ่ และแต่งตั้งให้พระสือ เป็นเจ้าอธิการวัดทุ่งทอง

เมื่อ ร.ศ.125 พระเมธาธรรมรส เจ้าคณะปักษ์เหนือ ได้ขึ้นไปตรวจราชการคณะสงฆ์ ได้เห็นความสามารถของพระอธิการสือ จึงแต่งตั้งให้เป็นพระใบฎีกาและเป็นเจ้าคณะหมวด รวมด้วยกัน 2 ตำแหน่ง

ต่อมา พระครูอุทานธรรมนิเทศ (ศุข) ได้ตั้งให้ท่านเป็นพระปลัดในตำแหน่งฐานานุกรมของท่าน และพระธรรมวโรดม เจ้าคณะมณฑล ตั้งให้พระปลัดสือ เป็นพระอุปัชฌาย์ ช่วยเหลือพระครูอุทานธรรมนิเทศ (ศุข) เจ้าคณะแขวงหนองฉาง เนื่องจากท่านชราภาพ

พ.ศ.2462 พระสุนทรมุนีได้ขออนุมัติ เจ้าคณะมณฑล แต่งตั้งให้ท่านเป็นพระครูชั้นประทวน เป็นผู้รั้งเจ้าคณะแขวงหนองขาหย่าง

พ.ศ.2464 พระครูอุทานธรรมนิเทศ (ศุข) มรณภาพ ชาวบ้านพร้อมใจกันร้องขอมายังเจ้าคณะจังหวัด เพื่อขอให้พระครูสือ เป็นพระครูเจ้าคณะแขวงหนองฉาง และเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองขุนชาติ ทางราชการคณะสงฆ์ได้อนุมัติ

ต่อมา พ.ศ.2467 ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูอุทิศธรรมวินัย”

ให้ความสำคัญต่อการศึกษาสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง ได้แสวงหาพระเปรียญมาจากกรุงเทพฯ มาสอนพระธรรมวินัยให้แก่พระภิกษุสามเณรที่วัดทุ่งทอง และวัดหนองขุนชาติ ตลอดถึงวัดอื่นๆ ในแขวง

ยังได้สร้างเสนาสนะภายในวัดหนองขุนชาติ สร้างศาลาที่พักสาธารณชนที่บ้านทุ่งพง บ้านป่าแดง และสะพานทำนบข้างหัวเขาสะแกกรัง สะพานในเขต อ.หนองฉางอีกหลายแห่ง

วันที่ 10 ก.ค.2478 ละสังขารอย่างสงบ สิริอายุได้ 64 ปี พรรษา 44

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน