คอลัมน์ ข่าวสดพระเครื่อง

เมธี เมืองแก้ว

“วัดตันตยาภิรม” ตั้งอยู่บนถนนท่ากลาง ในเขตเทศบาลนครตรัง เดิมมีชื่อว่า วัดต้นสะตอ หรือ วัดต้นตอ เพราะในอดีตมีต้นสะตอขนาดใหญ่ปลูกอยู่ภายใน ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เมื่อปี พ.ศ.2527 และเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 รวมทั้งยังเป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในสมัย พ.ศ.2461

นอกจากนี้ หอจดหมายเหตุแห่งชาติฯ ยังได้ขึ้นทะเบียน พระอุโบสถของวัดแห่งนี้เอาไว้ว่า มีความสวยงามเป็น 1 ใน 200 วัด ทั่วประเทศ เมื่อคราวฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2517 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยกช่อฟ้าพระอุโบสถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอักษรพระปรมาภิไธย ภปร ไว้ที่หน้าบัน เหนือเศียรพระพรหมทรงหงส์ ของพระอุโบสถด้านทิศตะวันออก และให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรี ประกอบพิธียกมุข

สำหรับพระอุโบสถแห่งนี้ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงไทย ตามแบบของกรมศิลปากร สร้างเมื่อ พ.ศ.2515 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2522 มีขนาดกว้าง 9 เมตร ยาว 24 เมตร ลักษณะหลังคาลดชั้น 3 ชั้น มุงกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ประดับกระจกสีทองลวดลาย

พระพุทธรูปประธานคือ พระพุทธมงคลโสภณโฆษิต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แบบสุโขทัยตอนปลาย หน้าตักกว้าง 59 นิ้ว สูง 80 นิ้ว หล่อด้วยทองเหลืองลงรักปิดทอง โดยมีพระอัครสาวก พระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร ประทับยืนขนาบอยู่ซ้ายขวา ส่วนบานหน้าต่างในพระอุโบสถ แกะสลักเป็นรูปตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์อย่างสวยงาม

ถัดออกไป เป็นพระเจดีย์ทรงบาตรคว่ำ สีขาวขลิบทอง เรียงซ้อน 5 ชั้น สูง 45 เมตร มีนามพระราชทานว่า พระสัมพุทธเจดีย์ภูมิพลาธิกาญจนาภิเษก ซึ่งถ้ามองไกลๆ จะมีลักษณะคล้ายเปลือกหอยเจดีย์ และน่าจะเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งเสด็จฯ ยกช่อฟ้าพระอุโบสถ อีกทั้งเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 50 ปี ออกแบบโดยนายประเวศ ลิมปะรังษี จากกรมศิลปากร ได้ถอดความมาจากพระไตรปิฎกของทิเบต และใช้วัสดุปูนตำ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตามกระแส พระราชดำรัส ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2541 ใช้เวลา 7 ปี ด้วยงบประมาณ 40 ล้านบาท

ด้านบนพระเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 3 องค์ โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศ ได้รับถวายจากรัฐบาลจีน ส่วนด้านล่างเป็นฐานสี่เหลี่ยม ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธประวัติ และประติมากรรมพระพุทธรูปปูนปั้น จารึกพระนามของพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ใน 14 ปาง พร้อมด้วยไม้ตรัสรู้ ตรงกลางเป็นซุ้มแก้ว ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธินามว่า พระพุทธพิไชยราชมงคล 4 องค์ ซึ่งหมายถึงพรหมวิหาร 4 และผนังด้านบนบานประตูจะมีสัญลักษณ์ครองราชย์ 50 ปี ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่จะมีการใช้ทองคำจริงในการตกแต่ง โดยใช้ช่างเขียนและช่างปั้น ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กรมศิลปากร

ขณะที่พระวิหาร 200 ปี ภายในประดิษฐานกลุ่มพระพุทธรูป 5 องค์ แถวในสุดคือ พระพุทธมหามุนีศรีตรังค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย ส่วนแถวสอง ประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน เดิมมี 3 องค์ แต่ถูกขโมยไป 1 องค์ ซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับที่ วัดตรังคภูมิพุทธาวาส และวัดประสิทธิชัย (วัดท่าจีน) ที่พระนางเลือดขาวนำเข้ามา

ขณะที่แถวหน้าสุด ประดิษฐานรูปหล่อ พระราชสารโสภณ (ช้วน เม่งบุตร) อดีตเจ้าอาวาส ซึ่งพระวิหารแห่งนี้เดิมเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถเก่า

บริเวณวัดแห่งนี้ ยังมีศาสนสถานและสิ่งปลูกสร้างที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง เช่น หอระฆัง กระถางธูป รวมทั้งต้นโพธิ์ และต้นไม้น้อยใหญ่ที่ให้ความร่มรื่น ถึงแม้สถานที่ตั้งจะอยู่กลางเมืองก็ตาม โดยพระครูอาทรกิตยานุกูล เจ้าอาวาสวัดตันตยาภิรม และเจ้าคณะอำเภอย่านตาขาว จะเน้นให้กิจการสงฆ์ทุกอย่างเป็นไปด้วยความสงบมากที่สุด และไม่สร้างความเดือดร้อนแก่พุทธศาสนิกชน ต้องการดำรงอยู่แบบพอเพียง

เพื่อให้สมกับความเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของจังหวัดตรัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน