พระมหานุกูล อภิปุณโณ ชี้วิธีทำบุญให้มีความสุข

พระมหานุกูล อภิปุณโณ ชี้วิธีทำบุญให้มีความสุข – มนุษย์ทุกผู้ทุกนามในโลกล้วนปรารถนาที่จะมีความสุขด้วยกันทั้งนั้น และถือเป็นความโชคดีของชาวพุทธที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ชี้แนะแนวปฏิบัติแห่งการพ้นทุกข์ไว้เรียบร้อยแล้ว และเพื่อให้ญาติโยมและผู้สนใจได้เข้าใจหลักธรรมคำสอนของพุทธองค์ในเรื่องดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง

โครงการ “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” จัดโดยซีพี ออลล์ ได้นิมนต์พระมหานุกูล อภิปุณโณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยาง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ ฝ่ายการศึกษา บรรยายธรรมในหัวข้อ “ทำบุญอย่างไรให้มีความสุข”

พระมหานุกูล อภิปุณโณ ชี้วิธีทำบุญให้มีความสุข

พระมหานุกูลเกริ่นให้ฟังว่า บุญคือความสุข คือความดี คือความปีติ บุญเกิดขึ้นได้ทุกเสี้ยววินาที เกิดได้ตลอดทั้งวัน พระพุทธเจ้าช่วงที่บวชอยู่ 45 พรรษา เวลาเดินโปรดสัตว์พูดแต่เรื่องบุญ ไปที่ไหนก็พูดแต่เรื่องพวกนี้ และมีพุทธพจน์ที่ว่า “สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย” ความสั่งสมซึ่ง บุญนำสุขมาให้ โดยการสร้างบุญบารมีทำความดีนั้น มี 10 ประการ

ประการแรก การให้ทานช่วยเหลือคน ซึ่งคนไทยนิยมทำทานกันมากเพราะให้แล้วก็มีความสุข ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากเรื่องพระเวสสันดรชาดก แต่ในกรณีที่ไม่มีเงินก็สามารถให้อย่างอื่นได้ อย่างเช่นให้อภัย ปล่อยวาง และฝึกคิดแต่เรื่องดีๆ เพื่อจะได้สบายใจ หากเจอเรื่องไม่ดีเรื่องร้ายต่างๆ ก็มองให้เป็นเรื่องดี

ประการที่ 2 การรักษาศีล โดยผลของมันคือ คนอื่นไม่เดือดร้อน ตัวเราเองก็ไม่เดือดร้อน ทำให้ได้บุญและมีความสุขไปด้วย

ประการที่ 3 ภาวนา ซึ่งต้องปฏิบัติด้วยการเจริญสติ มีสติอยู่ตลอดเวลา ในสมัยพระพุทธองค์มีพระรูปหนึ่งเดินตาม เพราะเห็นว่าพระพุทธเจ้ามีรัศมีเปล่งปลั่ง ดูแล้วไม่เบื่อ ถือเป็นบุญและมีความสุขที่ได้เห็น พระพุทธองค์จึงบอกว่ากายที่เห็นอยู่นั้นข้างในมีแต่อุจจาระ ปัสสาวะเต็มไปหมด จะตามดูทำไม แต่ว่าถ้าปฏิบัติและมีสติรู้ ย่อมจะได้เห็นธรรม เปรียบดั่งผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต

ประการที่ 4 อปจายนมัย หรือการอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งมีคำมหัศจรรย์อยู่ 3 อย่าง 1) เปิดใจ 2) ขอโทษ 3) ขอบคุณ 3 อย่างนี้เป็นอะไรที่สุดยอด ทว่าแม้จะเป็นคำมหัศจรรย์ขนาดนี้แต่คนไม่ค่อยใช้กัน ซึ่งถ้าคนทั้งโลกมี 3 อย่างนี้ แล้วนำวิธีการพระพุทธศาสนามาใช้ พร้อมเปิดใจคุยกัน พอคุยเสร็จก็มีความสุข เพราะเป็นการสร้างสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมครอบครัว สังคมองค์กร ทุกสังคมก็จะงดงาม

ประการที่ 5 ไวยาวัจจมัย แปลว่า บุญสำเร็จด้วยการขวนขวาย อย่างเช่นถ้าเป็นเด็กนักเรียนก็ช่วยเก็บขยะในโรงเรียน ปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียน เป็นเด็กดีของสังคม หรือถ้าเป็นผู้ใหญ่หากมีกรณีอย่างพายุปาบึกก็ช่วยกันบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ประการที่ 6 ปัตติทานมัย แปลว่า แบ่งบุญ ซึ่งบุญไม่เหมือนสิ่งของ สิ่งของเมื่อให้แล้วก็หมดไป แต่บุญสว่างไสว มีการขยายส่งต่อไปสู่คนรอบข้าง รวมถึงการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บิดามารดา ครูบาอาจารย์ เจ้ากรรมนายเวร และผู้ที่ล่วงลับทั้งหลาย

ประการที่ 7 ปัตตานุโมทนามัย หรือการอนุโมทนาส่วนบุญ เป็นการแสดงความยินดีกับการทำความดีของคนอื่น ร่วมสาธุมีความสุขกับเรื่องราวดีๆ ของผู้อื่น เช่น ยินดีกับเพื่อนข้างบ้านที่มีลูกเรียนจบปริญญาโท

ประการที่ 8 ธรรมสวนมัย หรือการฟังธรรม ฟังธรรมอย่างไรก็เป็นบุญ ยิ่งตั้งใจฟังยิ่งได้บุญ เกิดสมาธิ

ประการที่ 9 ธรรมเทศนามัย หรือการแสดงธรรม บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม เช่น ถ้าไปฟังพระเทศน์หรือไปแสดงธรรมก็ตั้งใจฟัง หากพระถามก็ตอบ

ประการที่ 10 ทิฏฐุชุกรรม หรือการทำความเห็นให้ตรงให้ถูกต้อง เหมาะสม ซึ่งเป็นไปตามหลักทั้ง 9 ข้อที่ได้กล่าวมาแล้ว

พระมหานุกูล อภิปุณโณ ชี้วิธีทำบุญให้มีความสุข

“ถ้าทำได้ทั้ง 10 ประการนี้ ญาติโยมจะมีความสุข ที่นี่ เดี๋ยวนี้ พรุ่งนี้โยมก็มีความสุข อาทิตย์หน้า เดือนหน้า ปีหน้า ชาติหน้า โยมก็มีความสุขเช่นกัน”

ผู้สนใจร่วมฟังธรรมะบรรยายในโครงการ “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” ได้ที่ชั้น 11 อาคารซี.พี.ทาวเวอร์ ถนนสีลม ทุกวันศุกร์ เวลา 12.00-13.30 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด

 


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน