คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์ สถาปัตยกรรมไทย

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ต้นไทรเป็นต้นไม้ใหญ่ มีใบร่มรื่น ปกคลุมให้ความร่มเย็น ชื่อในบาลี อชปาลนิโครธ แปลว่า ที่พักของคนเลี้ยงแกะ ชื่อในฮินดูเรียก ปันฮัน ในประเทศไทยบางแห่งเรียก บันยัน

ต้นไทรมีความเกี่ยวข้องในพุทธศาสนาที่สำคัญ 2 ตอน คือ

ตอนที่หนึ่ง ในเวลาเช้าของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนที่จะตรัสรู้ ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ใต้ต้นไทรนั้น นางสุชาดานำข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองมาถวาย เมื่อเสวยข้าวมธุปายาสไปแล้ว ได้นำถาดทองนั้นลอยน้ำในแม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสด็จไปประทับ ณ ต้นศรีมหาโพธิ์ และตรัสรู้ ณ โคนไม้นั้น

หลังจากตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ทรงประทับเสวยวิมุตสุขอยู่ ณ ใต้ต้นไม้หลายชนิดในบริเวณนั้น ในสัปดาห์ที่ 5 ทรงกลับมาประทับวิมุตสุข ณ โคนไม้ต้นไทรนิโครธอีกครั้ง

และในครั้งนี้มีเหตุการณ์อันสำคัญก็คือ การตรัสตอบคำถามพราหมณ์ หึ ทุกชาติ (พราหมณ์ขี้บ่น) ที่ถามพระพุทธเจ้าว่า “บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ก็แลธรรมเหล่าไหนทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์”

พระพุทธเจ้าจึงทรงกล่าวว่า

“พราหมณ์ใดมีบาปธรรมอันลอยเสียแล้ว ไม่ตวาดผู้อื่นว่า หึหึ (ไม่ขี้บ่น ด่าว่า ผู้อื่น) ไม่มีกิเลสดุจน้ำฝาด (การที่ไม่มีกิเลสเสมือนว่าได้ฟอกล้างกิเลสที่เหมือนน้ำฝาดออกหมดสิ้น) มีตนอันสำรวมถึงที่สุดแห่งเวท (หรือความรู้อันเป็นที่สุด) มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว (เพราะพรหมหมายถึงผู้อยู่เดียวดาย ไม่ข้องแวะด้วยกามคุณ) พราหมณ์นั้นไม่มีกิเลสเครื่องผูกขึ้นในอารมณ์ไหนในโลก คือไม่มีการเกิดขึ้นของกิเลสเมื่อมีการ กระทบกันของอายตนะ ควรกล่าวว่า ตนเป็นพราหมณ์โดยธรรม

ในพระอรรกถาเรื่องปาสกสิสูตรกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังต้นไทรนิโครธนั้น ทรงเฟ้นธรรม ซึ่งมีผู้รู้หมายความว่า ธรรมสำคัญที่กล่าวถึงคือ โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ หรือธรรมอันเกื้อกูลให้ตรัสรู้

ในความหมายแห่งสัญลักษณ์ของต้นไทร เนื่องจากไทรเป็นต้นไม้ใหญ่ ร่มรื่น มีรากไทรย้อย ที่จะแพร่ขยายพืชพรรณออกไปได้โดยรอบ พุทธศาสนาจึงเป็นดั่งต้นไทรที่พร้อมจะขยายออกไปให้ความร่มเย็นแก่โลก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน