พระนั่งเมืองแก้ว (วัดป่าพุทธาราม) ถ้ำสติ : คติสัญลักษณ์

โดย…ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

พระนั่งเมืองแก้ว (วัดป่าพุทธาราม) ถ้ำสติ : คติสัญลักษณ์ – เรื่องของพระนั่ง ที่เขียนผ่านมา เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในอดีตมีอายุเป็นร้อยปี แต่พระนั่งเมืองแก้ว พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมาอายุไม่เกิน 12 ปีนี้เอง

พระนั่งเมืองแก้ว (วัดป่าพุทธาราม) ถ้ำสติ

ด้วยรูปแบบของพระพุทธรูปที่งดงาม แกะสลักจากหินลอยตัวในถ้ำ ในปางธัมมจักกัปปวัตนสูตรร่วมสมัยกับศิลปะแบบทวารวดีในเขตเมืองราชบุรี เมืองที่มีพุทธศิลปะและซากโบราณสถานแบบศิลปะทวารวดีที่เก่าแก่หลายสถานที่

ประวัติสั้นๆ ของพระพุทธรูปองค์นี้มาจากการดำริของพระสงฆ์องค์หนึ่ง นาม พระสุรินทร์ รตนโชโต ซึ่งมาเป็นเจ้าอาวาสจากคำเชิญของแม่ชีสมจิต รัตนชัยยวีร์ และได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาว่า วัดป่าพุทธาราม และได้ดำริที่จะสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ โดยแกะสลักจากหินในถ้ำเป็นพระพุทธรูปลอยตัว ใช้เวลาแกะสลักอยู่ถึง 6 ปี

ปางแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้ เป็นปางที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้าแสดงธรรมเป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ หรืออดีตผู้เป็นอุปัฏฐากแก่เจ้าชายสิทธัตถะก่อนตรัสรู้ และได้หลีกตัวออกมาจากเจ้าชายสิตธัตถะเมื่อเห็นว่าเจ้าชายสิทธัตถะนั้นเลิกบำเพ็ญเพียรด้วยการทรมานตนให้ยากลำบาก เป็นเหตุให้เจ้าชายสิทธัตถะประทับอยู่แต่ผู้เดียวในพื้นที่อันเป็นสัปปายะแห่งการตรัสรู้สำคัญคือ เรื่องอริยสัจ 4

เรื่องสำคัญของอริยสัจ 4 ก็คือ คำว่าทางสายกลาง เป็นเรื่องที่บุคคลในปัจจุบันยกมาตั้งคำถามและเชื่อกันว่า ทางสายกลางน่าจะหมายความว่า พอดี โดยไม่ชัดเจนคำว่า พอดี ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไปนั้นวัดกันตรงไหน

คำว่าทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทานั้น ในทางพุทธศาสนาหมายความว่า เป็นการปฏิบัติตนด้วยการไม่บำเรอตนเพื่อหาความสุขในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือไม่ทรมานตนให้ได้รับความยากลำบาก

การปฏิบัติอันเป็นทางสายกลางนั้นคือ การทำปัญญา ทำความรู้ เครื่องรู้ เพื่อให้จิตสงบ ระงับจากกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดีรู้แจ้งเพื่อทำให้กิเลสดับไปจากความคิด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน