หลวงปู่ไต้ฮงกง ศาลเจ้าป่อเต็กตึ๊ง : อริยะโลกที่ 6

หลวงปู่ไต้ฮงกง – เป็นพระเถระชาวจีน ที่คนไทยเชื้อสายจีนนิกายมหายานรู้จักกันดี มีชีวิตอยู่ในสมัย 1,000 ปีที่แล้ว เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา

เกิดที่เมืองเหวินโจว มณฑลเจ้อเจียง ในปี พ.ศ.1582 สมัยราชวงศ์ซ่ง ตระกูลแซ่ลิ้ม เดิมชื่อ หลิงเอ้อ ท่านมีสติปัญญาปราดเปรื่องสามารถสอบได้ตำแหน่ง “จิ้นซือ” (บัณฑิตชั้นเอก) และเข้ารับราชการในตำแหน่งนายอำเภอ มณฑลเจ้อเจียง

ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ปกครองราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุข อายุ 54 ปี เบื่อหน่ายชีวิตราชการ จึงได้สละลาภยศอันสูงเกียรติออกอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่วัดแห่งหนึ่งในมณฑลฮกเกี้ยนได้รับฉายาว่า “ไต้ฮง”

หลวงปู่ไต้ฮงกง

เมื่อได้อุปสมบท หมั่นบำเพ็ญศาสนกิจ ศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนบรรลุธรรมอันวิเศษ

ท่านไต้ฮงพำนักอยู่ที่วัดแห่งนั้นเป็นเวลาหลายปี ด้วยจิตที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณาต้องการออกโปรดสัตว์ จึงได้ออกธุดงค์จากเมืองฮกเกี้ยนไปตามเมืองต่างๆ ตลอดเส้นทางที่ท่านธุดงค์ผ่านไปนั้น เมืองใดที่ประสบภัยพิบัติต่างๆ ก็จะช่วยขจัดปัดเป่า บรรเทาทุกข์ให้เมืองใดที่ทำการสร้างถนนหรือสะพาน ท่านจะช่วยเหลือจนกระทั่งเสร็จเรียบร้อย ในบางแห่งที่มีโรคระบาด มีคนเจ็บและล้มตาย ท่านก็จะช่วยนำยารักษาโรคออกแจกจ่ายแก่ผู้เจ็บป่วย และออกบิณฑบาตไม้ มาทำโลงศพและนำศพไปบรรจุฝังตามธรรมเนียม

พระภิกษุไต้ฮงออกธุดงค์โปรดสัตว์อยู่หลายปี จนกระทั่งผ่านมายังเมืองแต้จิ๋ว มีพุทธศาสนิกชนนิมนต์ท่านไปจำพรรษาอยู่ที่วัดเก่าแก่แห่งหนึ่งบนภูเขาปักซัว อำเภอเตี่ยนเอี้ย ซึ่งตลอดเวลาที่ท่านได้พำนักอยู่ที่วัดแห่งนี้ท่านได้บำเพ็ญศาสนกิจอย่างเคร่งครัด ด้วยมีเมตตาธรรมจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ทำให้บรรดาสาธุชนที่มีความศรัทธาเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนามาก

นอกจากนี้ ยังได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดดังกล่าวจนกลายเป็นพระอารามใหญ่ เจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้

ในบั้นปลายชีวิต ออกธุดงค์ไปอยู่จำพรรษาที่วัดเมี่ยงอัง ตำบล ฮั่วเพ้ง ห่างจากอำเภอเตี่ยนเอี้ยไปประมาณ 15 กิโลเมตร ที่หมู่บ้านนี้มีแม่น้ำเหลียงเจียงไหลผ่าน แบ่งเป็นฝั่งตะวันออกและตะวันตก วัดเมี่ยงอังตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกแม่น้ำ ในสมัยนั้นแม่น้ำเหลียงเจียงเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำในแม่น้ำไหลเชี่ยวมาก อีกทั้งมีความกว้างใหญ่และลึก ประชาชนจึงใช้เรือเป็นพาหนะ

ยามเมื่อเกิดมรสุมจะเกิดเหตุเรือล่มบ่อย ทำให้มีผู้คนเสียชีวิตอยู่เป็นประจำ ท่านไต้ฮงจึงเกิดความเวทนาสงสารประชาชน จึงดำริที่จะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเหลียงเจียง เพื่อให้ประชาชนได้สัญจรโดยสะดวก ท่านจึงได้บิณฑบาตวัสดุก่อสร้างต่างๆ อยู่หลายปี จนในปี พ.ศ.1671 มีพ่อค้าใหญ่เดินทางมานมัสการ และทราบว่าท่านจะสร้างสะพาน จึงได้นำช่างก่อสร้างและวัสดุมาร่วมสร้างสะพานด้วย

ส่วนบริเวณที่จะสร้างสะพาน ได้เลือกตรงหน้าศาลเจ้าหลักเมือง และดูฤกษ์ยามสำหรับการเริ่มงาน ในวันที่เริ่มสร้างสะพานสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด คือ น้ำในแม่น้ำเกิดลดลงไปจนเกือบแห้ง เป็นที่อัศจรรย์ บรรดาประชาชนและช่างต่างก้มลงกราบท่านด้วยความศรัทธา ท่านกลับบอกว่าให้กราบฟ้าดินเถิด การครั้งนี้น้ำทะเลที่ปากแม่น้ำจะไม่ขึ้นลงเป็นเวลา 7 วัน เมื่อทราบเช่นนั้นพวกช่างจึงสร้างรากฐานสะพานและสร้างถ้ำสำหรับระบายน้ำ 19 ถ้ำ จนแล้วเสร็จใช้เวลา 7 วัน

การสร้างสะพานเป็นไปด้วยความราบรื่นจนเสร็จ เป็นสะพานหินที่มีความยาวมาก ตั้งชื่อสะพานนี้ว่า “ฮั่วเพ็ง” หลังจากที่สร้างเสร็จท่านเริ่มอาพาธด้วยโรคชรา และมรณภาพในปี พ.ศ.1670 สิริอายุ 88 ปี

ชาวเมืองจึงได้ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลและฝังร่างท่านไว้ ณ ภูเขาฮั่วเพ็ง และสร้างศาลเจ้าประดิษฐานรูปเหมือนไต้ฮงกงโจวซือ มีนามว่า “ศาลเจ้าป่อเต็กตึ๊ง” มาจนทุกวันนี้

ประมาณปี พ.ศ.2453 ชาวจีนโพ้นทะเล เข้ามาอาศัยร่มพระบรมโพธิสมภารแห่งองค์พระมหากษัตริย์ไทย ด้วยความเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา จึงร่วมกันจัดตั้งองค์กรสงเคราะห์สาธารณภัย เพื่อเจริญรอยตามกุศลเจตนาของท่านไต้ฮงกงโจวซือ

ใช้ชื่อว่า “มูลนิธิฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง” หรือที่เรารู้จักกันในนาม “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” ตั้งอยู่บนถนนพลับพลาไชย กทม.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน