พระนางพญาเสน่ห์จันทร์ : ชมรมพระเครื่อง

พระนางพญาเสน่ห์จันทร์ – สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พระเครื่องบางองค์มีชื่อไพเราะและเป็นมงคลมาก เช่นที่พูดถึงในวันนี้คือพระนางพญาเสน่ห์จันทร์ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นพระกรุที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี พระนางพญาเสน่ห์จันทร์เป็นพระที่มีพุทธลักษณะสวยงามแบบศิลปะสุโขทัย ปัจจุบันก็หาพระแท้ๆ ยากแล้วครับ

พระนางพญาเสน่ห์จันทร์ได้ถูกขุดพบโดยบังเอิญ เนื่องจากกรมศิลปากรได้ขุดแต่ง บูรณะโบราณสถานในจังหวัดสุโขทัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 เรื่อยมา จนถึงปลายปี พ.ศ.2502 เมื่อขุดแต่งบริเวณฐานของพระองค์พระเจดีย์ วัดต้นจันทร์หรือวัดราวต้นจันทร์ ก็พบพระเครื่องนางพญาเสน่ห์จันทร์ และพบอีกที่วัดตาเถรขึงหนัง หรือวัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม ซึ่งทั้ง 2 วัดมีอาณาเขตติดต่อกัน

พระนางพญาเสน่ห์จันทร์ : ชมรมพระเครื่อง

ทั้ง 2 วัดนี้เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย ก่อนที่จะมีการพบพระนางพญาเสน่ห์จันทร์นั้น ในปี พ.ศ.2499 ทางกรมศิลปากรได้ขุดพบหลักศิลาจารึกหลักหนึ่ง ฝังจมดินอยู่บริเวณวัด ตาเถรขึงหนัง ศิลาจารึกหลักนี้เป็นหินชนวนสีเขียวชำรุดหักครึ่ง โดยเหลือแต่เพียงท่อนบนเท่านั้น ส่วนท่อนล่างหาไม่พบ จารึกเป็นภาษามคธและภาษาไทย ข้อความที่ศิลาจารึกก็พอแปลความสรุปได้ว่า วัดนี้ในสมัยสุโขทัย มีนามว่า “วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม สร้างเมื่อ พ.ศ.1943 ตรงกับสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสยลือไทย) และพระราชชนนีศรีธรรมราชมารดา เป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้น โดยโปรดให้ไปอาราธนาสมเด็จพระมหาศรีกิตติ ซึ่งเป็นพระสังฆราชจากเมืองกำแพงเพชร เพื่อเป็นประธานในการสร้าง พระอาวาสอาสน์อันดีมีชื่อ “ศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม” ตามนามพระสังฆราชพระองค์นั้น

การขุดพบพระนางพญาเสน่ห์จันทร์ในครั้งนั้นพบที่วัดต้นจันทร์ก่อน ขณะที่ทางการขุดลงไปในองค์พระเจดีย์และเปิดกรุที่บรรจุพระเครื่องต่างก็พากันตะลึงงัน เนื่องจากคนที่ลงไปในกรุเล่าว่า รู้สึกเหมือนตกอยู่ ในภวังค์ รู้สึกชุ่มชื่นอย่างประหลาด เพราะภายในกรุ่นไปด้วยกลิ่นแป้งร่ำกระแจะจันทร์ จึงอาจสันนิษฐานว่าสมัยนั้นเมื่อสร้างเสร็จแล้วนำมาบรรจุกรุ พระนางพญาเสน่ห์จันทร์คงถูกประพรมด้วยของหอมนานาชนิดไว้อย่างมากมาย เหตุนี้จึงมีกลิ่นหอมอบอวลดังกล่าว คงจะมาจากเรื่องราวของการเปิดกรุที่มีกลิ่นหอม ทางการจึงตั้งชื่อว่านางพญาเสน่ห์จันทร์ ต่อมาก็มีการเปิดกรุเจดีย์ของวัดตาเถรขึงหนังอีกต่อมา ก็ยังพบพระนางพญาเสน่ห์จันทร์บรรจุอยู่ในกรุนี้ด้วยปะปนกับพระเครื่องชนิดอื่นๆ มากมาย ภายในกรุแบ่งออกเป็นห้องๆ มี 8 ห้อง มีพระเครื่องนางพญาเสน่ห์จันทร์เป็นพื้น

พระนางพญาเสน่ห์จันทร์ของทั้งสองกรุนั้นมีพุทธลักษณะคล้ายกันมาก ที่สังเกตง่ายๆ ก็คือของกรุวัดต้นจันทร์จะมีเส้นคลายเส้นจีวร อยู่ที่ใต้แขนด้านซ้ายมือขององค์พระ ยาวตั้งแต่ข้อมือซ้ายยาวขนานกับท่อนแขนเลยข้อศอกซ้ายเล็กน้อย ส่วนพระของกรุวัดตาเถรขึงหนังจะไม่มีเส้นนี้ พระนางพญาเสน่ห์จันทร์ที่พบจะเป็นพระเนื้อดินเผา เนื้อละเอียดแต่ตัวเนื้อจะ ไม่ค่อยแน่นสักเท่าไร พระทั้งสองกรุจะปรากฏคราบกรุเป็นฝ้าบางๆ สีนวลจับอยู่เกือบทั้งองค์พระ โดยเฉพาะตามซอกแขน คราบกรุนี้จะจับฝังแน่นกับผิวของพระ

ในปี พ.ศ.2503 ทางกรมศิลปากรได้นำพระนางพญาเสน่ห์จันทร์มาให้ประชาชนเช่าบูชา เนื่องจากพระที่พบมีจำนวนมากทั้งสองกรุ และเพื่อนำเงินไปเป็นปัจจัยในการบูรณะโบราณสถานต่อไป ในครั้งแรกสนนราคาที่ทางการเปิดให้นั้นราคาองค์ละ 30-40 บาทเท่านั้น ก็มีประชาชนไปเช่าบูชากันมากจนพระเริ่มเหลือน้อยลง จนในปี พ.ศ.2509 ราคาเช่าอยู่ที่ 400-500 บาท เมื่อพระหมดไปจากกรม ราคาก็ขยับขึ้นลงตามลำดับ พระนางพญาเสน่ห์จันทร์ของทั้งสองกรุได้รับความนิยมทั้งสองกรุ แต่ด้วยจำนวนของวัดตาเถรขึงหนังมีมากกว่า จึงทำให้คนรู้จักกันมากกว่า จึงได้รับความนิยมสูงกว่าเล็กน้อย

เนื่องจากได้รับความนิยมจากผู้ที่ ได้บูชาไป กล่าวว่ามีพุทธคุณเด่นทางด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด และด้วยพุทธศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์และงดงาม อีกทั้งพุทธคุณที่ปรากฏ จึงทำให้พระนางพญาเสน่ห์จันทร์หาได้ยากแล้วในปัจจุบัน สนนราคาค่อนข้างสูง และของปลอมเลียนแบบก็มีมากตามมาเช่นกันครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระนางพญาเสน่ห์จันทร์ กรุวัดตาเถรขึงหนัง (วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม) จากหนังสืออมตพระกรุอันล้ำค่าของไทย มาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน