หลวงพ่อจอน วัฑฒจิตโต วัดบุญฤทธิ์ ดงพญาเย็น

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

หลวงพ่อจอน วัฑฒจิตโต – หลวงพ่อจอน วัฑฒจิตโต เจ้าอาวาสวัดบุญฤทธิ์ ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีใน จ.นครราชสีมา ที่สำคัญท่านยังเป็นศิษย์สายตรงของ หลวงปู่โทน กันตสีโล แห่งวัดเขาน้อยคีรีวันด้วย

ปัจจุบัน สิริอายุ 77 ปี

พื้นเพเดิมเป็นชาว ต.บ้านบึง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เกิดเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2485 บิดา-มารดา ชื่อ นายเชื่อม และนางไซร สุโมตะยะกุล ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา

เมื่ออายุครบตามเกณฑ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดบุญฤทธิ์ (บึงบน) ต.บ้านบึง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี โดยมี หลวงปู่พัทธ วัดบึงบวรสถิตย์ เป็นพระอุปัชฌาย์

ในห้วงนี้ มีโอกาสไปฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่โทน กันตสีโล วัดเขาน้อยคีรีวัน อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งเมืองชลบุรี ศึกษาวิทยาคมอีกหลายแขนง รวมทั้งศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ คือ การเสกน้ำมันมนต์ประสานกระดูก จากหลวงปู่โทนอีกด้วย

เล่าเรียนพระปริยัติธรรมอย่างมุ่งมั่น จนสอบได้นักธรรมชั้นตรี แต่ด้วยหน้าที่ของบุตรที่มีต่อบิดามารดา ต้องลาสิกขาออกมาช่วยงานครอบครัวหาเลี้ยงชีพ

แม้จะออกไปใช้ชีวิตเยี่ยงคฤหัสถ์ แต่ในใจยังระลึกอยู่เสมอว่าสักวันหนึ่งต้องกลับมารับใช้พระศาสนาตามที่ใจตั้งมั่นไว้ให้ได้

เพียงเวลาไม่นาน ก็สมปรารถนา ได้เข้าพิธีอุปสมบทอีกครั้ง ที่วัดกลางดง ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยมี พระครูอนุรักษ์วรันดร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ทองย้อย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์นฤนาท เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า วัฑฒจิตโต

หลังจากบวชครั้งนี้ สนใจศึกษาเล่าเรียนในพระธรรมวินัยอย่างจริงจัง สอบได้นักธรรมชั้นเอก จากสำนักเรียนวัดมิตรภาพวนาราม จ.นครราชสีมา

ต่อมาได้ฝึกฝนวิปัสสนากัมมัฏฐานควบคู่กับ การศึกษาเล่าเรียนวิทยาคมกับพระอาจารย์ที่เก่งในทางนี้ เคยเดินทางไปวิปัสสนากัมมัฏฐานกับพระอาจารย์ตะเบง ภิกษุสงฆ์ชาวพม่า ซึ่งธุดงค์มาวิปัสสนาอยู่แถบรอยต่อระหว่าง อ.แม่สอด และประเทศพม่าอยู่ระยะหนึ่ง

มีโอกาสได้รับถ่ายทอดวิชาความรู้ทางพุทธาคมกับภิกษุชาวพม่ารูปนี้เป็นอย่างมาก

นอกจากนั้น ยังได้มีโอกาสรับเอาตำรับการสร้างเครื่องรางของขลัง การนั่งปรกปลุกเสกวัตถุมงคลในรูปแบบขอมโบราณ และรูปแบบต่างๆ จากหลวงพ่อจันภูมิ พระเกจิอาจารย์ชาวเมืองพระตะบอง ประเทศกัมพูชา

หลวงพ่อจอน ได้ตั้งปณิธานจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างถึงที่สุด โดยได้ช่วยพระอาจารย์สุวรรณ วัณณาโภ เจ้าอาวาสรูปแรกพัฒนาบูรณะสำนักฝึกจิตนิมิตธรรม จนกลายเป็นวัดที่สมบูรณ์

ซึ่งก็คือวัดบุญฤทธิ์ในปัจจุบันนี้ โดยวัดได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2539

จากเริ่มแรกมีเพียงกุฏิไม้หลังเดียว ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้รับการพัฒนาขึ้น จนกระทั่งได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นวัด

หลังจากสำนักสงฆ์เปลี่ยนเป็นวัดบุญฤทธิ์ เรียบร้อยแล้ว พระอาจารย์สุวรรณจาริกธุดงค์ไปอยู่ที่อื่น หลวงพ่อจอนจึงได้เลื่อนเป็นเจ้าอาวาสรูปต่อมา ซึ่งทำนุบำรุงวัดบุญฤทธิ์ให้การปฏิสังขรณ์และพัฒนาก่อสร้าง อาคารเสนาสนะต่างๆ เรื่อยมา เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2528 จวบจนปัจจุบัน

มีลูกศิษย์ลูกหาเลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ และไต้หวัน

วัตถุมงคลประเภทพระเครื่องและเครื่องรางของ ขลังที่นิยม อาทิ ตะกรุดพญาราหูดับเดือนดับตะวัน, พระขุนแผนสะดุ้งมารพรายชุมพล, พญาราหูล้อมจักรวาล, ลูกอมพรายชุมพล, ลูกสะกดนะล้อมโลก, ลูกอมหนุมานพลังฤทธิ์พิชิตชัย, พระกริ่งพญาราหู รุ่นบุญฤทธิ์เจ้าสัวรับทรัพย์ ผ้ายันต์ ฯลฯ

ทุกวันนี้ ยังคงเดินหน้าพัฒนาวัดและจิตใจของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา และเป็นศูนย์รวมใจของชาวชุมชนโดยมิเสื่อมถอย

วัดบุญฤทธิ์ แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติอันร่มเย็น สำหรับเป็นที่พักพิงแก่มวลสรรพสัตว์ฉันใด

หลวงพ่อจอน ก็เป็นธงธรรมให้ร่มเงาพึ่งพิงจิตใจชาวบ้านฉันนั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน