กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ – พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เป็นพระราชวงศ์ในราชสกุล ชมพูนุท ดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี ..2465 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกอยู่นานถึง 16 ปี

ประสูติ เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2402 เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ (ต้นราชสกุลชมพูนุท) กับหม่อมปุ่น มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าภุชงค์ ทรงศึกษาอักขรสมัยเบื้องต้นกับ เจ้าจอมมารดาสัมฤทธิ์ ในรัชกาลที่ 3 ผู้เป็นอัยยิกา

เสด็จทรงศึกษาที่โรงเรียนแรฟเฟิลส์ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเสด็จกลับมาแล้ว ทรงบรรพชา ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

ครั้น ..2422 ทรงผนวช วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ประทับ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงมี พระฉายาว่า สิริวฑฺฒโน

ทรงศึกษาภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และพระปริยัติธรรมจนแตกฉาน ทรงพระปรีชาญาณพิเศษในทางรจนาหนังสือทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ทรงพระนิพนธ์ตำราและหนังสือสำคัญทางพระพุทธศาสนาไว้มากมาย เช่น คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย มหานิบาตชาดก นิทานต้นบัญญัติ สามเณรสิกขา เป็นต้น

พระนิพนธ์เหล่านี้ยังใช้เป็นคู่มือในการศึกษาภาษาบาลี และการศึกษาพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบันทรงเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย และทรงริเริ่มให้จัดหลักสูตรธรรมศึกษา เป็นหลักสูตรการเรียนพระพุทธศาสนาสำหรับฆราวาส ควบคู่ไปกับหลักสูตรนักธรรมของบรรพชิต

พระกรณียกิจพิเศษได้แก่ การเป็น พระราชกรรมวาจาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงผนวช

เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสยุคที่ 1 สิ้นพระชนม์ ใน ..2444 จึงได้ทรงเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา เป็นเจ้าอาวาสยุคที่ 2

กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงบริบูรณ์ด้วย พระศีลาจารวัตรเนกขัมมปฏิปทาไม่บกพร่อง มีพระอัธยาศัยเยือกเย็นสุภาพ ไม่เคยมีผู้ใดเคยเห็นพระอาการกริ้วโกรธหรือมีรับสั่งผรุสวาทรุนแรงแม้แต่ครั้งเดียว ทรงพระสุขุมคัมภีรภาพในการบริหารกิจการพระศาสนา ด้วยความมั่นคงในหลักการตามพระธรรมวินัยเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ยังทรงอุปการกิจสาธารณูปการไว้เป็นอันมาก เช่น ทรงอุปถัมภ์โรงเรียนวัดราชบพิธสืบต่อจากเจ้าอาวาสยุคที่ 1, ทรงอุปถัมภ์การสร้างวัดมะขามใต้ (วัดชินวราราม) สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย จังหวัดปทุมธานี, ทรงสร้างโรงเรียนวัดชินวราราม (เจริญผลวิทยาเวศม์) จังหวัดปทุมธานี เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ จึงทรงงอกงามไพบูลย์ในพระศาสนาและในพระอิสริยยศทางราชตระกูลตลอดมานับแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ทรงพระราชศรัทธายิ่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัว ตลอดจนคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ ..2464

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ทรงมีพระปรีชาสามารถในทางรจนา นับได้ว่าทรงเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญพระองค์หนึ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงพระนิพนธ์ตำรับตำรา และหนังสือสำคัญทางพระพุทธศาสนาไว้มาก เช่น พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาหรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย มหานิบาตชาดก ต้นบัญญัติ สามเณรสิกขา เป็นต้น ซึ่งพระนิพนธ์เหล่านี้ยังได้ใช้เป็นคู่มือในการศึกษาภาษาบาลีและศึกษาพระพุทธศาสนาของภิกษุสามเณรและ บุคคลทั่วไปอย่างแพร่หลายอยู่จนบัดนี้

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ทรงประชวรด้วยพระโรคเส้นพระโลหิตในกระเพาะพระบังคลเบาพิการ ทำให้พระบังคลเบาเป็นโลหิต สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2480 สิริพระชนมายุ 77 พรรษา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน