ธรรมจักร วงล้อแห่งธรรม

คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์ สถาปัตยกรรม

ธรรมจักร วงล้อแห่งธรรม – สัญลักษณ์แห่งการประกาศสัจธรรมหรือที่เรียกกันว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่รู้จักกันว่า เป็นเครื่องหมายของการแผ่ขยายพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศกไปยังดินแดนโดยรอบของพระองค์

มีการค้นพบธรรมจักรมากมาย หลายแห่งในประเทศไทย บริเวณพื้นที่ที่มีศิลปะในยุคทวารวดี เช่น นครปฐม ราชบุรี อู่ทอง ทั้งภาคตะวันออกและภาคเหนือ ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ลำพูน

ศิลปะทวารวดีไทย น่าจะมีอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 11-16 ภายหลังจากการเผยแผ่พุทธศาสนาของพระเจ้าอโศกมหาราชที่เกิดขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 3 กว่า 700 ปี (จนน่าจะตั้งคำถามว่า การแผ่ขยายพุทธศาสนาที่ห่างกันถึง 700 ปีนั้น มีความเป็นมาอย่างไร หลวงจีนฟาเหียนเดินทางไปอินเดียประมาณปี พ.ศ. 942 ไปทางบกกลับทางมหาสมุทรแต่ไม่ได้แวะดินแดนสุวรรณภูมิ พระถังซัมจั๋งเดินทางไปอินเดีย พ.ศ. 1172 โดยทางบกและกลับทางบก

พระภิกษุอี้จิงเดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่อินเดียปี พ.ศ. 1215 เดินทางไปทางทะเลและกลับทางทะเล ขากลับแวะศึกษาพระธรรมที่อาณาจักรศรีวิชัยอีก 4 ปี (ยังไม่สรุปแน่ชัดว่าอยู่ที่ใด) ซึ่งก็คงจะมิได้เป็นผู้นำธรรมจักรเข้าสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ อีกทั้งการที่ภิกษุอี้จิงต้องมาศึกษาพุทธศาสนาที่ดินแดนศรีวิชัยถึง 4 ปี แปลความก็คือขณะนั้นพุทธศาสนา (ฝ่ายมหายาน) ได้มั่นคงอยู่ในดินแดนนี้แล้ว

พระธรรมจักรในประเทศไทยอยู่ในยุคทวารวดีนั้นเทียบเคียงได้ก็จะเป็นศิลปะยุคคุปตะของอินเดีย ซึ่งน่าจะเผยแผ่มาจากราชวงศ์คุปตะ ยุคสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์มหาราชองค์หนึ่งของอินเดีย

สัญลักษณ์ทางศาสนาของธรรมจักรในดินแดนสุวรรณภูมิที่มีกวางหมอบอยู่ 2 ข้าง ตามแบบของธรรมจักรยุคสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชในพุทธศตวรรษที่ 3 เป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึงการประกาศสัจธรรมอันสำคัญที่เรียกว่า ธัมมจัก กัปปวัตนสูตร คือ อริยสัจ 4 โดยมีกงล้อ 8 ซี่ ที่หมายถึง มรรค (ทางสายกลาง) ที่หมายความต่อไปยังแนวประพฤติปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น 8 ประการ หรือสรุปก็คือ หนทางของการดำรงชีวิต ศรัทธา และปฏิบัติที่จะต้องไม่บำเรอตนให้เพลิดเพลินด้วยกามคุณทั้ง 5 และไม่ทรมานตนให้ได้รับความยากลำบากทั้งกายและใจ ณ บริเวณสวนป่าอิสิปตนมฤคทายวันที่มีกวาง ซึ่งหมายถึงสัตว์โลกทั้งมวล

สัตว์โลกหมายถึงชีวิตที่ยังเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิทั้ง 3 ได้แก่

อรูปโลก ได้แก่ บรรดาพรหมที่อาศัยสุขในอรูปมานเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง

รูปโลก ได้แก่ โลกที่อาศัยความสุขจาร รูปฌาน เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง

กามโลก สัตว์ที่อาศัยความสุขจากกามเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง เช่น เทวดา มนุษย์ เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย และสัตว์นรก

ภายหลังได้ขยายความของกงล้อ 8 ซี่ไปเป็นกงล้อ 12 ซี่ หมายถึงธรรมะ ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท 12 อาการของความสัมพันธ์ต่อเนื่องแห่งการเกิดดับของความรู้สึก ความคิด การปรุงแต่ง ที่เป็นทุกข์ การจะต้องดับทุกข์ก็คือ ความรู้ความเข้าใจในการที่จะดับเหตุหรือรู้ทันเหตุและปัจจัยเหล่านี้

บางธรรมจักรมีถึง 15 ซี่ ก็หมายถึง จรณะ 15 หรือความประพฤติ ปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นทางบรรลุนิพพาน

หรือถ้ามี 16 ซี่ หมายถึง ฌาน 16 ที่แปลว่า ความหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นแก่ ผู้เจริญวิปัสสนาจนถึงรู้ถึงกิเลสที่หมดแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน