สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) สังฆราชองค์แรกรัตนโกสินทร์ : อริยะโลกที่ 6

สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)เป็นสมเด็จพระสังฆราชไทยพระองค์ที่ 2 แห่งกรุงธนบุรี และเป็นพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จสถิต วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

พระประวัติในตอนต้นไม่ปรากฏ รายละเอียด พบแต่เดิมเป็นพระอาจารย์ศรี อยู่วัดพนัญเชิงวรวิหาร หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในปี ..2310 หนีภัยสงครามไปอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาเมื่อปี ..2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ได้อาราธนาพระองค์ให้มาอยู่ที่วัดบางว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) และทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 2 แห่งกรุงธนบุรี

สมเด็จพระสังฆราช

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขึ้นครองราชย์ ที่กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี ..2325 ได้โปรดเกล้าฯ ให้คงที่สมณฐานันดรศักดิ์ดังเดิม และไปครองพระอารามตามเดิมด้วย ทรงเห็นว่าเป็นผู้มีความสัตย์ซื่อมั่นคง ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาโดยแท้ ควรแก่นับถือเคารพสักการบูชา

พระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญในการชำระและฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ทั้งในด้านความประพฤติปฏิบัติของภิกษุสามเณร การบูรณปฏิสังขรณ์พุทธสถาน การชำระตรวจสอบพระไตรปิฎก ตลอดจนการประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป

พระกรณียกิจสำคัญ คือ งานสังคายนา พระไตรปิฎก นับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 2 ของราชอาณาจักรไทย กระทำเมื่อปี ..2331

โดยนำพระไตรปิฎกที่รวบรวมบรรดาพระไตรปิฎกฉบับที่เป็นอักษรลาว อักษรรามัญ ตรวจชำระแล้วแปลงเป็นอักษรขอม จารึกลงลานประดิษฐานไว้ หอพระมณเทียรธรรม และสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ ไว้ศึกษาทุกพระอารามหลวง เมื่อตอนต้นรัชกาล มาตรวจชำระ

โดยอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะให้ดำเนินการ สมเด็จพระสังฆราชเลือกพระราชาคณะฐานานุกรม เปรียญอันดับที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกได้พระสงฆ์ 218 รูป กับราชบัณฑิตยาจารย์ 32 คน สังคายนาที่วัดนิพพานาราม

แบ่งพระสงฆ์ออกเป็น 4 กอง ดังนี้ 1.สมเด็จพระสังฆราช เป็นแม่กองชำระพระสุตตันปิฎก 2.พระวันรัต เป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก 3.พระพิมลธรรม เป็นแม่กองชำระพระสัททาวิเสส 4.พระธรรมไตรโลก (ชื่น) เป็นแม่กองชำระพระปรมัตถปิฎก

การชำระพระไตรปิฎกใช้เวลา 5 เดือน ได้จารึกพระไตรปิฎกลงลานใหญ่ แล้วปิดทองทึบ ทั้งปกหน้าปกหลัง และกรอบ เรียกว่า ฉบับทอง สมโภช แล้วอัญเชิญ เข้าประดิษฐานในตู้ประดับมุก ตั้งไว้ใน หอพระมณเทียรธรรม กลางสระในวัด พระศรีรัตนศาสดาราม

จึงกล่าวได้ว่า การทำสังคายนาครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีสมพระราชประสงค์ทุกประการ โดยการอำนวยการของสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) โดยแท้ นับเป็นพระเกียรติประวัติอีกประการหนึ่ง

พระไตรปิฎกฉบับสังคายนาเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 ที่ได้เป็นแม่ฉบับสำหรับตรวจสอบในการจัดพิมพ์เป็นอักษรไทยครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อ ..2431 เป็นเล่มหนังสือจำนวน 39 เล่ม

ต่อมาในรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้จัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่งและเพิ่มเติมจนครบบริบูรณ์ เมื่อ ..2468 เป็นเล่มหนังสือจำนวน 45 เล่ม เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ

สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อปี ..2331 และสมเด็จพระเจ้าหลานเธออีก 2 พระองค์

คือ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ทรงผนวช พระอุโบสถวัด พระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง

ครั้นทรงผนวชแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จไปประทับอยู่วัดสมอราย (คือวัดราชาธิวาส ปัจจุบัน) เพื่อทรงศึกษาสมณกิจในสำนักพระปัญญาวิสาลเถร (นาค) ตลอด 1 พรรษาแล้ว จึงทรงลาผนวช

สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี 12 ปี และทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 12 ปี เช่นกัน สิ้นพระชนม์ เมื่อ ..2337 ในรัชกาลที่ 1 ไม่ปรากฏว่ามีพระชนมายุเท่าใด

ในกฎพระสงฆ์กล่าวถึงพระองค์ว่าสมเด็จพระสังฆราชผู้เฒ่าน่าจะมีพระชนมายุสูงไม่น้อยกว่า 80 พรรษา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน