หลวงปู่เปรื่อง ฐานังกโร วัดสันติวัฒนา หล่มสัก

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

หลวงปู่เปรื่อง ฐานังกโร : อริยะโลกที่ 6 – “หลวงปู่เปรื่อง ฐานังกโร” หรือ “พระวินัยวงศาจารย์” อดีตเจ้าอาวาสวัดสันติวัฒนา ต.สักหลง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ และอดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอหล่มสัก-เขาค้อ (ธรรมยุต) พระเถระนักปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน ที่ชาวเมืองเพชรบูรณ์และพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปต่างเลื่อมใสศรัทธา

เกิดในสกุล รูปน้อย เมื่อวันพุธที่ 30 มี.ค.2474 ที่บ้านเลขที่ 33 หมู่ 2 ต.สักหลง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ บิดา-มารดา ชื่อ นายเรือง และนางน้อย รูปน้อย

ในช่วงวัยเยาว์ ศึกษาที่โรงเรียนบ้านหนองบัว จ.เพชรบูรณ์ จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ช่วยครอบครัวทำไร่ ทำนา และทำสวน

ย่างเข้าวัยหนุ่มฉกรรจ์ มีจิตใจฝักใฝ่และศรัทธาหลักธรรมคำสอน ประกอบกับที่ครอบครัวได้เข้าวัดฟังธรรมและรักษาศีลเป็นประจำ จึงได้ขออนุญาตบุพการีบวช

ต่อมา เข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดศรีบุญเรือง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2495 โดยมี พระครูสุธรรมคณี วัดสามัคคีวัฒนา ต.หล่มสัก อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

อยู่ทำวัตรปฏิบัติพระอุปัชฌาย์ และศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม จนกระทั่งสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก จึงได้รับหน้าที่ให้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุ-สามเณร ภายในวัด และทำหน้าที่เป็นผู้สวดปาติโมกข์ ทุกปักขคณนาตลอดทั้งปี

พ.ศ.2510 เมื่อญาติโยม อุบาสก และอุบาสิกา ร่วมกันสร้างวัดขึ้นใหม่ คือ วัดสันติวัฒนา ที่บ้านสักหลง ชาวบ้านได้นิมนต์ให้มาอยู่จำพรรษาที่วัดแห่งนี้ และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส

พ.ศ.2514 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ (ธรรมยุต) พ.ศ.2518 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และเจ้าคณะอำเภอหล่มเก่า-อำเภอน้ำหนาว (ธรรมยุต) จ.เพชรบูรณ์

พ.ศ.2541 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอหล่มสัก และอำเภอเขาค้อ (ธรรมยุต) จ.เพชรบูรณ์

พ.ศ.2554 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอหล่มสัก-เขาค้อ (ธรรมยุต)

เนื่องจากท่านเป็นพระที่มีความรอบรู้ใน เรื่องนวกรรม จึงชักชวนญาติโยมตำบลสักหลง ก่อสร้างศาลาการเปรียญ อุโบสถ กุฏิกัมมัฏฐาน ปรับภูมิทัศน์ภายในวัดให้มีความร่มรื่น ด้วยการปลูกต้นไม้ และ นำพันธุ์ไม้หายากมาปลูก ทำให้ภายในวัดมีความร่มรื่นเย็นสบาย จนได้รับเกียรติคุณจากกรมการศาสนา ให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างติดต่อกันหลายปี

เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาบวช ได้ศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรม หลวงปู่เปรื่อง กำหนดให้พระภิกษุ-สามเณรต้องลงอุโบสถ ทำวัตรเช้า วัตรเย็น ทุกวัน และฟังพระสวดปาติโมกข์ ตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ ยังอบรมให้พระภิกษุ-สามเณร ยึดมั่นปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์และกฎมหาเถรสมาคม ฝึกปฏิบัติตามหลักธุดงควัตร ยึดหลักสันโดษ มักน้อยในปัจจัย 4 ไม่ยึดติดในอติเรกลาภ จึงทำให้พระภิกษุ-สามเณร ที่จำพรรษาวัดแห่งนี้ ไม่เคยมีอธิกรณ์ใดๆ ให้เกิดความเสื่อมเสีย

ส่งเสริมให้พระภิกษุ-สามเณรภายในวัด ได้รับการศึกษาด้านพระปริยัติธรรม แต่ละปีจึงมีสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี โท และเอก ปีละหลายรูป

รวมทั้ง ยังจัดส่งให้ไปศึกษาด้านกัมมัฏฐาน ที่สำนักวัดป่าต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ได้เข้าถึงหลักธรรมของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

พ.ศ.2549 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระวินัยวงศาจารย์

เป็นพระสายปฏิบัติที่เคร่งครัด ให้การศึกษาอบรมญาติโยม และประชาชนทั่วไป ด้วยการเน้นเรื่องของการปฏิบัติตน การฝึกทำสมาธิ เพื่อสร้างฐานทางสติให้มีความมั่นคง ไม่วอกแวก และมีสติ

ภายในวัดจึงมีกุฏิกัมมัฏฐานไว้เพื่อให้ผู้ ที่ชอบความสงบเข้ามาปฏิบัติธรรม ทำสมาธิ และปฏิบัติกัมมัฏฐาน ได้ทุกวัน แต่ละวันจึงมีผู้เดินทางมาเคารพกราบไหว้ พร้อมกับทำนุบำรุงศาสนสถานและถาวรวัตถุอย่างพร้อมสรรพ

อย่างไรก็ตาม สังขารของหลวงปู่ร่วงโรยไปตามกาลเวลา อายุเข้าสู่วัยไม้ใกล้ฝั่ง หลวงปู่มีอาการอาพาธ ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ญาติโยมนำไปรักษาที่ โรงพยาบาลหลายครั้ง

เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2562 อาการหลวงปู่มีแต่ทรงกับทรุด กระทั่งละสังขารอย่างสงบ ที่ห้องไอซียูโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ สิริอายุ 88 ปี พรรษา 68

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6 โดย อารีย์ สีแก้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน