พระครูขี้หอม ผู้บูรณะพระธาตุพนม

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก หรือ พระครูขี้หอม พระสงฆ์รูปหนึ่งที่มีบทบาทผู้นำชุมชนและการเมืองฝั่งโขง อันเป็นเหตุให้เกิดรัฐบาลลาวภายใต้ชื่อ จำปาสัก หรือ จำปาสัก ในยุคอาณาจักรลาวแผ่ขยายครอบคลุมสองฝั่งแม่น้ำโขง

การเมืองชุมชนสองฝั่งโขงในขณะนั้น แตกออกเป็น 3 รัฐ คือ หลวงพระบาง (ลาวเหนือ) เวียงจันทน์ (ลาว กลาง) และจำปาสัก (ลาวใต้)

พระครูขี้หอม หรือ หลวงพ่อขี้หอม ยาคูขี้หอม (ญาคูขี้หอม) ราชครูขี้หอม บางก็เรียก พระเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก พระครูโพนสะเม็ก หรือ พระครูยอดแก้ว เป็นต้น

อัตโนประวัติ เกิดเมื่อจุลศักราช 993 ปีมะแม ตรงกับ พ.ศ.2174 สมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช แห่งล้านช้าง เวียงจันทน์ ที่เมืองโพพันลำ เทือกเขาภูพาน (ปัจจุบันคือบ้านกะลืม หมู่ 5 เทือกเขาภูพาน เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี)

วัยเยาว์ขณะมีอายุ 13-14 ปี บรรพชาเป็นเณรจัว มีพระครูลืมบอง เป็นพระอุปัชฌาย์ ก่อนข้ามแม่น้ำโขงไปจำพรรษากับพระครูยอดแก้ว ที่เวียงจันทน์ ฝั่งลาว ร่ำเรียนศึกษาท่องบทสวดมนต์ ท่องตำรา พระปาติโมกข์ จดจำได้แม่นยำและช่ำชอง

พระครูยอดแก้วพร่ำสอนเนื้อหาในพระไตรปิฎก และนำหนังสือธรรมจากหอไตรมาให้ท่อง ปรากฏว่าจดจำได้หมดจนแตกฉาน กิตติศัพท์เลื่องถึงพระเจ้ากรุงเวียงจันทน์ ทรงเลื่อมใสและจัดผ้าไตรมาถวาย ยกย่องให้เป็นชาจั่ว (พระราชาจัวเณร)

พออายุครบ 20 ปี พระเจ้ากรุงเวียงจันทน์และพระครูยอดแก้ว จัดพิธีอุปสมบท อยู่จำพรรษาที่วัดโพนสะเม็ก เวียงจันทน์ นับจากนั้นจึงเรียกชื่อว่า พระครู โพนสะเม็ก ต่อมาจึงเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นเจ้าราชครู ผู้คนจึงเรียกท่านว่า เจ้าราชครูโพนสะเม็ก เรื่อยมา

พ.ศ.2233 เหตุการณ์ในเวียงจันทน์วุ่นวาย แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย จึงได้อพยพบริวารและผู้ติดตาม 3,000 คน เดินทางไปถึงชายแดนเขมร ระหว่างทางท่านและลูกศิษย์ได้สร้างเมือง ก่อตั้งวัดวาอารามหลายแห่ง จึงเกิดชุมชนลาวตั้งขึ้นสองฝั่งแม่น้ำโขง และลำน้ำสาขา

แรงศรัทธาและบารมีที่มีต่อเจ้าราชครูโพนสะเม็กมากขึ้น จึงได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นพระราชา ปกครองเมืองนครจำบากนาคบุรีศรี ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น นครจำปาสัก ในเวลาต่อมา

อาณาจักรดังกล่าวแผ่ขยายไปอย่างรวดเร็ว ลูกศิษย์ท่านได้ไปสร้างเมืองใหม่ สองฝั่งน้ำโขง มีสัมพันธไมตรีกับเขมร ขณะที่เจ้าราชครูดำรงตำแหน่งฝ่ายสงฆ์ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยการสร้างพระพุทธรูป สร้างวัดวาอารามหลายแห่ง

ตามตำนานพระธาตุพนม ระบุว่า ช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 ประมาณ พ.ศ.2233-2235 พระครูขี้หอม หรือ เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก ได้มาบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม ครั้งที่ 5 เป็นเวลานานถึง 3 ปีจึงแล้วเสร็จ

พ.ศ.2512 พระเทพรัตนโมลี (แก้ว อุทุมมาลา) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมในขณะนั้น ได้จัดสร้างวัตถุมงคลขึ้น 3 รุ่น 1 ในนั้น เป็นเหรียญเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (พระครูขี้หอม) เพื่อรำลึกถึงผู้บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม ปัจจุบันพบเห็นได้ค่อนข้างยาก

เป็นพระเถราจารย์ที่มีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาในอาณาจักรล้านช้าง ท่านสร้างคุณูปการมากมาย จนได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูหลวงโพนสะเม็ก เป็นสังฆราชแห่งนครจำปาสัก

มรณภาพอย่างสงบ สิริอายุ 90 ปี

โดยอัฐิธาตุส่วนหนึ่งได้บรรจุไว้ในเจดีย์ นอกกำแพงแก้วชั้นที่ 2 มีรูปหล่อหน้าเจดีย์เท่าองค์จริง ด้านข้างองค์ พระธาตุพนมด้านทิศเหนือ ให้ชาวพุทธกราบไหว้จวบจนทุกวันนี้

โดย ชนะ วสุรักคะ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน