คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

แทน ท่าพระจันทร์

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พระกริ่งหลวงพ่อกึ๋น วัดดอนยานนาวา เป็นพระกริ่งรุ่นเก่าที่สนนราคายังไม่สูงมากนัก แต่เป็นพระกริ่งที่มีพุทธคุณสูง และสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ทรงเป็นประธานในพิธี และมีเรื่องเล่าขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่ตอนทำพิธี ความเป็นมาเป็นอย่างไรลองมาติดตามกันครับ

วัดดอน แต่เดิมมีชื่อเต็มว่า “วัดดอนทวาย” ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของถนนเจริญกรุง ในท้องที่อำเภอยานนาวา กทม. ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงครองราชย์ (พ.ศ.2335) มังจันจ่า เจ้าเมืองทวาย (เมืองมอญ) ได้อพยพครอบครัวญาติสนิทมิตรสหายและบริวารเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เข้าทำนองหนีร้อนมาพึ่งเย็น

ต่อมามังจันจ่าได้รับราชการมีความดีความชอบเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จึงโปรดพระราชทานที่หลวง ณ ตำบลดอกกระบือ อันเป็นบริเวณที่ตั้งวัดดอนปัจจุบันนี้ให้เป็นถิ่นพำนักของมังจันจ่าและบริวาร และได้ลงหลักปักฐานเป็นปึกแผ่นมั่นคง และพากันเรียกหมู่บ้านนั้นว่า “บ้านทวาย” โดยมีมังจันจ่าเป็นหัวหน้าปกครองได้รับความร่มเย็นเป็นสุขสืบมา

โดยที่ชาวทวายเป็นพุทธศาสนิกชนผู้ถือเคร่งในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว ในปีพ.ศ.2340 มังจันจ่าพระยาทวายจึงได้ชักชวนชาวทวายจัดสร้างวัดขึ้นที่ด้านหลังหมู่บ้านทวาย ซึ่งเป็นที่ดอนสูงเด่น เป็นชัยภูมิที่เหมาะสม และให้ชื่อว่า “วัดดอนทวาย” ใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจสืบต่อมา กาลผ่านมาจะด้วยชื่อวัดยาวไปหรืออย่างไรไม่ทราบได้

แต่ชาวบ้านมักจะชอบเรียกสั้นๆ ว่า “วัดดอน” และเรียกกันมาจนถึงทุกวันนี้ พระอธิการที่ครองวัดดอนที่พอสืบได้ก็คือ ท่านปู่จั่น หรือที่ชาวบ้านชอบเรียกท่านว่า ท่านปู่ใหญ่ เป็นพระเถระฝ่ายชาวทวาย ซึ่งอาราธนามาแต่เมืองทวาย ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังทางปฏิบัติ ทางกสิณสมาธิภาวนา มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสเป็นอันมากในขณะนั้น ครองวัดดอนมาจนถึงปีพ.ศ.2464 ก็ถึงแก่มรณภาพ พระครูกัลยาณวิสุทธิ์ (หลวงพ่อกึ๋น) ได้รับอาราธนาแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน

หลวงพ่อกึ๋นเป็นลูกบ้านทวายโดยกำเนิด เกิดที่หมู่บ้านทวาย อำเภอยานนาวา ก็เป็นผู้ทรงคุณในทางสมาธิภาวนาและมีอาคมแก่กล้า ได้อุปสมบทและเล่าเรียนวิทยาคมสืบเนื่องมาจากหลวงพ่อจั่น (ท่านใหญ่) และอาจารย์เปี่ยม วัดดอน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้มีวิทยาคมขลังอีกรูปหนึ่ง ต่อมาในปีพ.ศ.2480 สมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นพระครูกึ๋นอยู่นั้น ก็เริ่มเข้าสู่ยุคสงครามเอเชียบูรพา ชายไทยทุกคนต้องเข้ารับใช้ชาติ








Advertisement

ในการนี้พระครูกึ๋นจึงดำริที่จะสร้างพระเครื่องขึ้นมา เพื่อแจกทหารที่มาลาไปทัพ ท่านจึงได้สร้างพระกริ่งนิรันตรายขึ้นมา โดยได้ทูลอาราธนาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (แพ) แห่งวัดสุทัศน์ ซึ่งเป็นองค์ปรมาจารย์ที่ท่านเคารพสูงสุดเสด็จไปเป็นประธานจุดเทียนชัย ขอแผ่นทองและทองชนวนพระกริ่งต่างๆ ตลอดจนกำกับการเททองหล่อจนเสร็จการ

เหตุการณ์ในขณะที่บัณฑิตกำลังบวงสรวงอัญเชิญปวงเทพมาร่วมโมทนาในพิธีเทพระกริ่งอยู่นั้น พลันอสุนีบาตก็ฟาดลงมาท่ามกลางพิธี เป็นที่อัศจรรย์ ผู้คนต่างตื่นตะลึง แต่หามีผู้ใดได้รับอันตรายไม่ ต่อมาในขณะที่ทำพิธีเททองอยู่นั้น สายสิญจน์ได้ตกลงไปในเบ้าที่หลอมทอง

แต่ทว่าสายสิญจน์หาได้ไหม้ไฟแม้แต่น้อย ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นต่อหน้าเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ และมีผู้รู้เห็นมากมาย ต่างก็โจษจันกันไปทั่ว แม้แต่พระนามของพระกริ่งที่ท่านพระครูกึ๋นตั้งว่า “พระกริ่งนิรันตราย” ยังพลอยเรียกกันว่า “พระกริ่งฟ้าผ่า”

พระกริ่งรุ่นนี้มีสร้างด้วยกัน 2 พิมพ์ คือพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก โดยพระกริ่งพิมพ์ใหญ่สร้างประมาณ 108 องค์ ส่วนพระกริ่งพิมพ์เล็กสร้างประมาณ 300 องค์ พระกริ่งวัดดอนนี้นับว่าเป็นพระกริ่งที่สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ท่านได้ทรงเป็นประธานเททองอีกรุ่นหนึ่ง ที่น่าเก็บบูชามาก อีกทั้งสนนราคาก็ยังไม่สูงมากนักครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระกริ่ง นิรันตรายของวัดดอนพิมพ์เล็กมาให้ชมกันครับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน