พระสังวรานุวงศ์เถร(ชุ่ม) วัดราชสิทธาราม บางกอกใหญ่

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

พระสังวรานุวงศ์เถร(ชุ่ม) วัดราชสิทธาราม บางกอกใหญ่ – วันที่ 16 พ.ย.2562 วันครบรอบ 166 ปี ชาตกาล พระสังวรานุวงศ์เถร (ชุ่ม ติสสโร) เจ้าอาวาสรูปที่ 16 (พ.ศ.2458-2470) วัดพลับ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ อันเป็นพระอารามหลวงเก่าแก่แห่งหนึ่ง

เป็นพระเถระที่เชี่ยวชาญทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน และสร้างพระเครื่องที่มีความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังอย่างยิ่ง

มีนามเดิมว่า ชุ่ม โพอ่อน เกิดที่บ้าน ต.เกาะท่าพระ อ.บางกอกใหญ่ จ.ธนบุรี เมื่อวันพุธที่ 16 พ.ย.2396 ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ตรงกับปีฉลู จ.ศ.1215 เป็นบุตรของนายอ่อนและนางขลิบ

ช่วงเยาว์วัยได้เรียนอักขรสมัยในสำนักพระอาจารย์ทอง วัดราชสิทธาราม ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ จนอายุ 13 ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณรในสำนักพระสังวรานุวงศ์เถร (เมฆ) และศึกษาเล่าเรียนในสำนักนี้ตลอดมา

พระสังวรานุวงศ์เถร(ชุ่ม) วัดราชสิทธาราม บางกอกใหญ่

อายุ 21 ปี เมื่อปี พ.ศ.2417 เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดราชสิทธารามมีพระสังวรานุวงศ์เถร (เมฆ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระสมุห์กลั่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่หลายปีแต่ไม่เคยสมัครเข้าสอบไล่หรือบาลีในสนามหลวง

เมื่อแตกฉานแล้วจึงหันมาเรียนและขึ้นกัมมัฏฐานกับพระอุปัชฌาย์ เริ่มจากวิชาธรรมกายจนถึงถอดรูปได้ เรียนอยู่นานจนพระอุปัชฌาย์เชื่อมือ และได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญที่สุดในบรรดาศิษย์ทั้งหมด จนกระทั่งปีพ.ศ.2422 ได้เป็นพระใบฎีกาฐานานุกรมของพระสังวรานุวงศ์เถร (เมฆ)

หลังพระอุปัชฌาย์มรณภาพ ท่านก็รับหน้าที่เป็นพระอาจารย์สอนและบอกกัมมัฏฐานพระเณรและคฤหัสถ์ทั่วไป และมีโอกาสได้ออกไปรุกขมูลและถือธุดงค์บ่อยครั้ง สถานที่ที่ท่านชอบไปคือแถบพระพุทธบาทห้ารอย จ.เชียงราย ไปจนถึงเมืองหงสาวดีและย่างกุ้งในประเทศพม่า

ถึงปี พ.ศ.2431 เลื่อนเป็นพระสมุห์ฐานานุกรมในพระสังวราฯ (เอี่ยม)

ต่อมาในปี พ.ศ.2451 ได้รับพระราชทานเลื่อนเป็นพระราชาคณะที่ พระสังวรานุวงศ์เถร ได้เป็นเจ้าอาวาสต่อจากพระมงคลเทพมุนี (เอี่ยม) รับพระราชทานนิตยภัตเพิ่มอีกเดือนละสามตำลึง เสมอด้วยชั้นราช รุ่งขึ้นอีกปีได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เพิ่มนิตยภัตขึ้นอีกเดือนละสองบาท รวมเป็นสามตำลึงครึ่ง

ลำดับงานฝ่ายปกครอง พ.ศ.2421 เป็นเจ้าคณะหมวด พ.ศ.2458 เป็นเจ้าอาวาสวัดราชสิทธาราม และเจ้าคณะใหญ่อรัญวาสี

เป็นพระเถระรูปสุดท้ายที่ได้รับพระราชทานพัดหน้านางงาสานต่อจากเจ้าคุณเฒ่า หรือหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ซึ่งหลังจากท่านแล้ว ก็ไม่มีพระเถระรูปใดได้รับพระราชทานอีกเลย อาจจะเป็นเพราะไม่มีพระราชาคณะรูปใดเหมาะสม หรือเพราะวัสดุและชิ้นส่วนงาสานนี้มีราคาแพงและหาได้โดยยาก จึงไม่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นอีก

พ.ศ.2459 เป็นพระราชาคณะเสมอชั้นราช ในราชทินนามเดิม

นอกจากนี้ ท่านเป็นพระอาจารย์ของพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญทางฝั่งธนบุรีหลายรูป เช่น หลวงปู่นาค วัดระฆัง, หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก, หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี เป็นต้น

วัตถุมงคล “เจ้าคุณสังวรา (ชุ่ม)” สร้างไว้มีด้วยกันหลายอย่าง เช่น ตะกรุดสามกษัตริย์, พระพิมพ์เล็บมือ หรือพิมพ์ซุ้มกอเนื้อชินตะกั่วถ้ำชา, พระพิมพ์ห้าเหลี่ยม เนื้อชินตะกั่วถ้ำชา และเนื้อสำริด, พระพิมพ์สองหน้า เนื้อชินตะกั่วถ้ำชา, พระพิมพ์เนื้อเงิน และเนื้อทองฝาบาตร, พระปิดตา เนื้อตะกั่วอาบปรอท เป็นต้น

แต่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง คือ เครื่องราง “น้ำเต้ากันไฟ”

ในสมัยที่ท่านครองวัด พระกัมมัฏฐานเจริญรุ่งเรืองมากถึงขนาดมีพระสงฆ์มาศึกษากัมมัฏฐานมากถึง 200 รูปเศษ

อีกทั้งท่านยังเป็นผู้เก็บรักษา เครื่องบริขารต่างๆ ของบูรพาจารย์ ต่อจากพระอาจารย์ของท่าน มีบริขารของสมเด็จ พระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) เป็นต้น ปัจจุบันบริขารต่างๆ ได้เก็บรักษาไว้ใน พิพิธภัณฑ์พระกัมมัฏฐาน คณะ 5 วัดราชสิทธาราม

ท่านครองวัดราชสิทธารามอยู่นาน 12 ปี มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันจันทร์ที่ 12 ธ.ค.2470

สิริอายุ 75 ปี พรรษา 54

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน