ปางโอวาทปาติโมกข์ : คติสัญลักษณ์ สถาปัตยกรรม

ปางโอวาทปาติโมกข์ – หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน มีการประชุมคณะสงฆ์ที่บวชโดยพระพุทธเจ้า 1,250 รูป มาประชุมกันในวันเพ็ญเดือน 3 เรียกว่า วันมาฆบูชา พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมที่เรียกว่าเป็นข้อละเว้นในการประพฤติปฏิบัติของการเป็นพระภิกษุ เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ เป็นข้อห้ามข้อปฏิบัติที่เรียกว่า วินัยปาติโมกข์

ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการสืบทอดพระศาสนาให้เป็นที่พึ่งแก่ชาวโลกให้ยาวนานให้ความเชื่อถือน้อมรับคำสอนจากผู้สำรวมในกายใจของพระภิกษุ

พุทธประวัติระบุว่า พระพุทธเจ้าเป็นประธานและนำสวดพระปาติ โมกข์นี้ตลอดระยะ 20 พรรษา แรกของการตรัสรู้ และบัญญัติให้พระสงฆ์ทั้งหลายต้องสวดปาติโมกข์นี้ทุก 15 วัน

ปางโอวาทปาติโมกข์

การต้องสวดทุก 15 วัน ก็คือการย้ำเตือนถึงการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาที่พระสงฆ์ผู้เป็นสาวกในพุทธศาสนาต้องมีศีลที่จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด 227 ข้อและหากมีการฝ่าฝืนจะมีบทกำหนดการดำเนินการตั้งแต่ขาดจากความเป็นภิกษุไปจนถึงต้องสารภาพความผิดและต้องยืนยันที่จะไม่กระทำผิดนั้นอีก

พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในอิริยาบถนั่งสมาธิยกพระหัตถ์ฝ่ามือหันออกไปด้านหน้า นั่งพระหัตถ์จีบเป็นวงกลมอันหมายถึงท่าของการแสดงธรรม (ธัมมจัก กัปปวัตนสูตร) และการบอกห้าม การกระทำอันเป็นการทุศีล ละเมิด จรรยาบรรณของสงฆ์

แต่สาระสำคัญของคติในพระพุทธรูปปางนี้ก็คือ เจตนารมณ์เบื้องต้นและเบื้องปลายของการดำรงอยู่ในสมณเพศในหลักการของการถือเป็นพระภิกษุ คือคำกล่าวที่แปลเป็นภาษาไทยได้ดังนี้

การไม่ทำบาปทั้งปวง (ผิดศีล)

การทำกุศลให้ถึงพร้อม (การภาวนาคือการทำให้มาก ให้เจริญในการพิจารณาธรรม)

การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ (การขจัดเหตุแห่งทุกข์ การรู้แจ้งแห่งทุกข์ได้บังเกิดแล้ว)

ธรรมทั้งสามอย่างนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และหลังจากนั้นก็คือ ข้อวินัยปาติโมกข์ 227 ข้อ ที่ควบคุมความประพฤติปฏิบัติของหมู่สงฆ์ทั้งหลาย

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน