เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ศาลหลักเมือง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะนายกสภาทหารผ่านศึก ได้เป็นประธาน พล.อ.ชาญชัย ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ. เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ต.อ.จักรทิพย์ชัย จินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.อ.อำนาจ รอดสวัสดิ์ ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) พร้อมด้วยนายกสมาคมแม่บ้านองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และคณะผู้บริหารระดับสูงขององค์การฯ ในการประกอบพิธีเททองวัตถุมงคล และพิธีครบรอบ 235 ปี วันคล้ายวันสถาปนาองค์พระหลักเมือง ประจำปี 2560 ที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร โดยได้นิมนต์ พระพรหมมังคลาจารย์ (เจ้าคุณธงชัย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

สำหรับในการประกอบพิธีดังกล่าว ได้มีการบวงสรวงองค์พระหลักเมือง หลังจากนั้น เป็นการประกอบพิธีสงฆ์ และเททองหล่อวัตถุมงคล จำนวน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย

พระพุทธรูปปางเปิดโลก ขนาด 19 นิ้ว

เนื้อทองเหลืองรมดำ จำนวน 235 องค์

เทนำฤกษ์เนื้อเงิน จำนวน 1 องค์

เหรียญปั้มพระพุทธรูปปางเปิดโลก ขนาด 3.50 ซม.

เนื้อทองแดง 10,999 เหรียญ

เนื้อนวโลหะ 2,999๒ เหรียญ

เนื้อเงินแท้ 1,999 เหรียญ

เนื้อทองคำ 99 เหรียญ (น้ำหนักประมาณ 15.2 กรัม)

ชุดเทพารักษ์ทั้ง 5 เนื้อโลหะผสมชุบทอง 9,999 ชุด ซึ่งวัตถุมงคลดังกล่าว จะนำเข้าพิธีพุทธาภิเษกอีกครั้ง ในวันอังคารที่ 18 ก.ค2560

ที่ศาลหลักเมือง กทม.

สำหรับประวัติความเป็นมาของศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นนิมิตหมายแสดงที่ตั้งกรุงเทพมหานคร

มีพระราชพิธียกเสาหลักเมืองขึ้น เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2325 มีลักษณะเป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์ มีไม้แก่นจันทน์ประกับนอกสูง 187 นิ้ว ลงรักปิดทองยอดเสารูปบัวตูม ภายในกลวงเป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชาตากรุงเทพมหานคร ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสาหลักเมืองเดิมที่สร้างไว้ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ทรงวินิจฉัยว่าควรสร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่และได้มีการผูกดวงเมืองใหม่

เพื่อให้ประชาชนประสบความเจริญรุ่งเรือง ในปี พ.ศ. 2395 ลักษณะเป็นเสาไม้สักเป็นแกนอยู่ภายในประกับด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ยอดเม็ดทรงมัณฑ์ โดยมีทรงเสาอวบกว่าเสาหลักเมืองต้นเดิม บรรจุแผ่นทองคำจารึกดวงชะตากรุงเทพมหานคร ในสมัยรัชกาลที่ 9เมื่อคราวฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี พ.ศ. 2525 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ศาลหลักเมืองโดยรอบ และอัญเชิญเสาหลักเมืองต้นเดิมมาประดิษฐานไว้คู่กับเสาหลักเมืองต้นปัจจุบัน เพื่อประชาชนได้สักการะบูชาพร้อมกัน ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร นอกจากจะมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็น

สถานที่สำคัญอันศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนชาวไทยสักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ในแต่ละวัน จะมีผู้คนหลั่งไหลมากราบไหว้บูชาองค์พระหลักเมืองและเทพารักษ์ทั้ง 5 องค์ ที่สถิตย์อยู่ในศาลหลักเมืองแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังมีหอพระที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิดให้ประชาชนทำบุญและให้บริการเครื่องบวงสรวงสังเวยสำหรับการสักการะบูชาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่สถิตอยู่ในศาลหลักเมืองอีกด้วย

ศาลหลักเมืองเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าสักการะองค์พระหลักเมือง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นประจำทุกวันตั้งแต่เวลา 06.30-18.30 น.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน