พันธุ์แท้พระเครื่อง

ราม วัชรประดิษฐ์ www.arjanram.com

ยังมี “พญานาค” สำคัญอีกตนหนึ่งในสมัยพุทธกาล เมื่อคราวพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นามว่า “พญามุจลินทนาคราช” ซึ่งเป็นมูลเหตุให้เกิด “พระปางนาคปรก” ที่มีพุทธลักษณะงดงามสง่าและสำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา โดยพระพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า…

“…พญามุจลินทนาคราช บังเกิด ณ สระโบกขรณี (สระบัวหรือตระพังน้ำ) ซึ่งอยู่ใกล้ต้นจิกที่ประทับของพระพุทธองค์ หลังจากที่ประทับภายใต้ต้นอัชปาลนิโครธ (ต้นไทร) ครบ 7 วันแล้ว ได้เสด็จไปสู่มุจลินท์ไม้จิก (ต้นจิก) ประทับภาคใต้ร่มไม้จิกอีก 7 วัน ระหว่างนั้นมีเมฆครึ้มและฝนตกตลอดทั้ง 7 วัน พญามุจลินทนาคราช ทราบเหตุแห่งความแปรปรวนดังกล่าวจึงขึ้นมาจากสระ ก็แลเห็นบุรุษหนึ่งนั่งอยู่ใต้ต้นจิก ลักษณะงดงามเปล่งปลั่ง นึกในใจว่า “ท่านผู้นี้มีสิริวิลาศเลิศ ชะรอยจะเป็นเทพยดาพิเศษ ประดับด้วยฉัพพรรณรังสี” ก็ทราบชัดว่าเป็น “พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้” และที่เสด็จมาสู่นิวาสสถานแห่งตนนั้นก็ด้วยพระมหากรุณา เป็นมหาบุญลาภอันใหญ่ยิ่ง สมควรที่ตนจะต้องช่วยปกป้องมิให้พระองค์ถูกต้องลมฝน จึงเข้าไปขดขนดกายได้ 7 รอบ แวดล้อมองค์พระศาสดา แล้วแผ่พังพานอันใหญ่ขึ้นป้องปกเบื้องบน เพื่อให้พ้นจากแดด ลม และฝน ทั้งป้องกันเหลือบ ยุง ริ้น ไร และสัตว์เลื้อยคลานทั้งมวล ครั้งฝนหายแล้ว พญามุจลินทนาคราชจึงคลายขนดจากที่ล้อมพระวรกายพระพุทธเจ้า จำแลงเพศเป็นมาณพน้อยน้อมกายถวายอัญชลีเฉพาะพระพักตร์สมเด็จ พระสัพพัญญู ด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้า

พระพุทธจริยาที่เสด็จประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขภายในวงขนดของพญานาคมุจลินทนาคราช ที่ขดแวดล้อมพระกายอยู่นี้เอง เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นมา เรียกว่า “ปางนาคปรก”

พระพุทธรูปและพระเครื่องในลักษณาการ “นาคปรก” นับเป็นพระที่มีพุทธลักษณะงดงาม และมีนัยแสดงความหมายซึ่งสืบทอดกันเรื่อยมาตั้งแต่โบราณกาลตามพุทธประวัติดังกล่าวข้างต้น โดยลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ และมีพญานาคแผ่เศียรเป็นพังพานขึ้นจากพระอังสาไปปรกพระเศียรของพระพุทธรูป แต่เดิมทำเป็นรูปพญานาคเป็นมนุษย์ มีรูปเศียรพญานาค 7 เศียรเป็นพังพาน ในกิริยาที่พญานาคนมัสการพระพุทธองค์ ต่อมาภายหลังทำเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิบนบัลลังก์นาคขนด หรือมีขนดนาคล้อมรอบองค์ แผ่เศียรเป็นพังพานขึ้นจากพระอังสาไปปรกพระเศียรของพระพุทธรูป ซึ่งจะมีทั้งเศียรเดียว 7 เศียร หรือหลายเศียร

สยามประเทศ คงได้รับอิทธิพลการสร้างพระปางนาคปรกจากเขมรก่อนเป็นเบื้องแรก ตั้งแต่สมัยอยุธยาจึงเริ่มพบพระประเภทดังกล่าว และเมื่อราชสำนักพยายามรวบรวมพุทธประวัติ ได้มีการสร้างพระปางต่างๆ ตามเรื่องราว พระปางนาคปรกก็ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากแสดงออกถึงอิทธิฤทธิ์แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และแสดงความสัมพันธ์กับ “นาค” ได้ชัดเจนที่สุด ต่อเมื่อมีการจัดสรรให้เกิดพระปางประจำวัน เพื่อเข้าไปทดแทนการบูชาเทพนพเคราะห์ ซึ่งได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ ไปจนถึง พระราหู พระเกตุทั้งเก้าดวง ซึ่งเป็นคติพราหมณ์ “พระปางนาคปรก” ก็ได้รับการจัดสรรให้เป็นปางประจำวันเสาร์ แทนดาวพระเสาร์แต่นั้นมา

อาจกล่าวได้ว่า “พระปางนาคปรก” นับเป็นการแสดงถึงพุทธภาวะที่มีอยู่เหนือสัตว์สำคัญ เช่น พญานาค นอกเหนือไปจากการแสดงพุทธภาวะเหนือเหล่าอสูร โดยแสดงให้เห็นในพุทธประวัติการกำราบอสูรต่างๆ เช่น อสุรินทราหู พระยาชมพู และอสูรเหล่านี้ก็ยอมถวายตนเป็นผู้ปกป้องศาสนา อาทิ อาฬาวกยักษ์ และท้าวเวสสุวัณ ที่ปกป้ององค์พระพุทธชินราช สองฟากข้างบัลลังก์ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการแสดงให้เห็นถึงอำนาจ บุญบารมี และพระเมตตาของพระพุทธองค์ที่มีเหนือ 3 โลก เหนือทั้ง เทพเทวะ มนุษย์ ยักษ์ สัตว์ ภูตผีปีศาจ ต่างๆ

ในวงการพระเครื่องพระบูชา จึงมีความนิยมสร้างพระพุทธรูป พระเครื่อง และพระพิมพ์ “ปางนาคปรก” กันมากมาย เช่น พระนาคปรกวัดท้ายตลาด พระนาคปรกใบมะขาม สำนักต่างๆ ตลอดจนพระเครื่องที่นิยมสร้างประจำวันตั้งแต่รัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ล้วนแล้วแต่มีการจัดสร้างเป็นพระปางนาคปรกประกอบด้วยทั้งสิ้นครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน