คอลัมน์ อริยะโลกที่6

“หลวงปู่สาธุ์ สุขธัมโม” อดีตพระเกจิเรืองวิทยาคมแห่งมหาสารคาม สืบทอดปฏิปทาอันงดงามและไสยเวทสายเขมรมาจากพระครูสีหราช วัดบ้านแก่นท้าว บูรพาจารย์รุ่นเก่า

แม้จะละสังขารนานกว่า 50 ปีแล้ว แต่แรงศรัทธายังคงไม่เสื่อมคลายตราบจนปัจจุบัน

เห็นได้จากทุกวันที่ 20 มี.ค. ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันมรณภาพ ศิษยานุศิษย์จากทั่วสารทิศจะเดินทางมาร่วมทำบุญที่วัดบ้านเหล่า ต.เม็กดำ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม

มีนามเดิมว่า สาธุ์ สรรพสอน เกิดในปี พ.ศ.2421 ที่บ้านข่อย อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ เป็นบุตรของพ่อสอนและแม่หน่อย สรรพสอน ครอบครัวมีอาชีพทำไร่ทำนา

ช่วงวัยเด็ก พ.ศ.2430 บ้านข่อยเกิดภาวะฝนแล้งติดต่อกันหลายปี บิดา-มารดา ตัดสินใจอพยพมาปักหลักทำมาหากินอยู่ที่บ้านเหล่า

ด้วยความที่เป็นผู้มีจิตใจเอนเอียงเข้าหาพระธรรม เมื่ออายุได้ 12 ปี จึงขอให้โยมบิดา-มารดา นำท่านไปบรรพชาที่วัดในหมู่บ้าน

จนอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงเข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดบ้านแก่นท้าว โดยมีพระครูสีหราช วัดบ้านแก่นท้าว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการน้อย วัดบ้านเหล่า เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงปู่จันทา วัดบ้านเม็กดำ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังอุปสมบท อยู่จำพรรษาศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ที่วัด ต่อมาได้ไปศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ณ สำนักเรียนวัดบ้านแก่นท้าว ได้ให้ความสนใจด้านวิทยาคม

ในยุคนั้นชื่อเสียงของพระครูสีหราช โด่งดังทั่วภาคอีสานกลางและอีสานใต้ ในฐานะบูรพาจารย์ผู้เรืองวิทยาคมสายเขมร

จึงขอฝากตัวเป็นศิษย์เรียนไสยเวท ควบคู่กับการศึกษามูลกัจจายน์ บาลี อักษรขอม ไทยน้อย อักษรลาว ทำให้มีความรู้ทางด้านอักขระโบราณเพิ่มขึ้นอีกแขนง

วัตรปฏิบัติช่วงหลังเทศกาลออกพรรษาทุกปี จะออกเดินธุดงควัตรไปตามป่าเขาลำเนาไพรหลายแห่งในภาคอีสาน รวมทั้งเขมรและลาว แสวงหาความหลุดพ้น

จากความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย วัตรปฏิบัติจำเริญรอยตามพระครูสีหราช เสมอต้นเสมอปลาย ทำให้หลวงปู่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว

ชื่อเสียงอันโด่งดังของหลวงปู่สาธุ์ ยังทำให้มีพระภิกษุสงฆ์มาขอฝากตัวเป็นศิษย์เล่าเรียนวิทยาคมจำนวนหลายรูป ภายหลังมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วอีสาน เช่น หลวงปู่มี กันตสีโล วัดป่าสันติธรรม (ดงส้มป่อย) อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม หลวงปู่ทองสุก สัมปันโน วัดโพธิ์ชัยนิมิต อ.พยัคฆ ภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม เป็นต้น

วัตถุมงคลนั้นมีพุทธคุณเด่นในด้านอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาด และเมตตามหานิยม แม้อาคมจะเข้มขลังเพียงใด แต่ท่านไม่เคยโอ้อวด กลับพร่ำสอนให้ญาติโยมดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ก่อนตัดสินใจทำอะไรลงไปให้นึกถึง คำสอนของครูบาอาจารย์ทุกครั้ง แล้วชีวิตจะ พานพบแต่ความสงบสุข

นอกจากนี้ ยังได้ชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนา โดยปัจจัยที่ได้จากการบริจาค จะนำมาพัฒนาสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับวัดแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นศาลาการเปรียญ กุฏิ อุโบสถ เป็นต้น ทำให้วัดบ้านเหล่าเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว บรรยากาศในบริเวณวัด มีแต่ความสงบวิเวก เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมยิ่งนักแล

ในช่วงบั้นปลายของชีวิต หลวงปู่อาพาธบ่อยครั้งด้วยโรคชรา

สุดท้ายถึงแก่มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2512 สิริอายุ 93 ปี พรรษา 72

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน