ชนชั้นสัตว์โลก (8)

คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์ สถาปัตยกรรมไทย

โดย… ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ชนชั้นสัตว์โลก (8) – สวรรค์ชั้นดุสิต สัญลักษณ์ของสวรรค์ชั้นนี้ก็คือ ปล้องที่ 4 ของยอดกลางเจดีย์ที่อยู่เหนือองค์เจดีย์ที่มีทั้งหมด 6 ปล้อง คือดินแดนที่ผู้อยู่ยังเกี่ยวข้องอยู่กับกาม ที่แปลว่า ยังยินดีอยู่ในรูป รส กลิ่น และสีเสียง และธรรมารมย์ (แปลว่ามีความสุขอยู่ในธรรมะที่ประโลมใจ)

ความสำคัญของสวรรค์ชั้นดุสิต หมายถึงเป็นที่อยู่ของนักบวช นักปราชญ์ ผู้มีบุญทั้งหลาย ผู้ปรารถนาหรือผู้ที่มีดำริจะพ้นไปจากความทุกข์ มีหัวหน้านาม ท้าวสันดุสิตเทพราช

แบ่งพื้นที่เป็นเขตที่เป็นที่อยู่ของเทวดาระดับที่เรียกว่าเป็นพระอริยเจ้าในพระพุทธศาสนา เรียกว่า พระโสดาบัน (ผู้เข้าถึงกระแสที่จะนำไปสู่นิพพาน) ละสังโยชน์ (หรือเครื่องผูกมัดไว้ในโลก) ได้แก่ มีเห็นถูกต้อง ชัดเจนในเรื่องกายละความสงสัยธรรมในข้อต่างๆ และการประพฤติเชื่อถือในโชคลางนิมิตต่างๆ กับ พระสกิทาคามี ผู้ทำสังโยชน์อีก 2 ประการให้เบาบาง ได้แก่ กามราคะ ความพอใจในกาม ปฏิฆะ ความข้องขัดในอารมณ์หรือความกระทบกระทั่งหงุดหงิดในใจ อันเป็นความพยาบาทอย่างหนึ่ง ซึ่งพระอริยเจ้าทั้ง 2 ระดับนี้จะจุติกลับมายังโลกมนุษย์

พระโสดาบันจุติกลับมายังโลกไม่เกิน 7 ครั้ง พระสกิทาคามีจุติกลับมายังโลกอีก 1 ครั้ง และจะบรรลุอรหันต์บนโลกนี้

สิ่งสำคัญของผู้ที่อยู่ในดินแดนสวรรค์ชั้นดุสิตก็คือ เมื่อจะจุติมาสู่โลกมนุษย์เพื่อจะบรรลุพระอรหันต์นั้นเลือกเกิดได้

ไตรภูมิกถาระบุว่า พระศรีอารยเมตไตรยะ ผู้จะลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภัทรกัลป์นี้ เป็นผู้เทศนาธรรมให้เทวดาทั้งหลายฟังอยู่เป็นนิจ อันเป็นหลักการของพุทธศาสนา ฝ่ายมหายานเรียกนิกายสุขาวดี สำหรับในประเทศไทยก็คือกลุ่มธรรมกาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน