อรูปพรหม

คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์ สถาปัตยกรรม

โดย…ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

อรูปพรหม – สัญลักษณ์ของอรูปพรหมในคติจักรวาลทัศน์ทางพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่ในสถาปัตยกรรมรูปสถูป เจดีย์ คือส่วนของ ปลียอด อยู่เหนือปล้อง 2 ปล้อง ของส่วนบนขององค์เจดีย์ อันเป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์ 6 ชั้น และชั้นรูปพรหม 16 ชั้น

อรูปพรหมจะแตกต่างจากรูปพรหมก็คือหลักเกณฑ์ของการทำสมาธิ คือการควบคุมจิต

รูปพรหมเป็นพรหมที่อุบัติขึ้นด้วย เหตุแห่งการบำเพ็ญ “รูปฌานกุศล” คือ การเพ่งสมาธิจนบรรลุด้วยฌานในระดับ ต่างๆ ตั้งแต่ปฐมฌาน คือ ฌานที่ประกอบด้วยองค์ 5 คือ วิตก (ตรึก) วิจารณ์ (ตรอง) ปีติ(อิ่มใจ) สุข (สบายใจ) และ เอกัคคตา (ความมีอารมณ์เดียว) จนถึง จตุตถาฌาน (คือฌานขั้น 4) ที่จิตบรรลุในอุเบกขา (ไม่มีสุขไม่มีทุกข์) เป็นสติบริสุทธิ์

อรูปพรหม

ส่วนอรูปพรหมก็อุบัติขึ้นด้วยการบำเพ็ญอรูปฌานกุศล เกิดจากการเจริญภาวนาที่มิได้เพ่งที่รูป แต่เพ่งไปที่ในสิ่งที่เรียกว่า อรูป 4 ประการ ได้แก่

เพ่งอากาศอันไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ เรียกว่า อากาสานัญจตายนะ

เพ่งวิญญาณอันไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ เรียกว่า วิญญาณัญจายตน

เพ่งความว่างอันไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ เรียกว่า อากัญจัญญายตน

เพ่งเอาความรู้สึกถึงความว่าง ไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่เป็นอารมณ์ เรียกว่า เนาสัญญานาสัญญายตน

พรหมทั้ง 4 ระดับนี้ไม่มีรูป มีแต่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่มีความรับรู้ในการกระทบกันของอายตนะที่เรียกว่า ตา หู คอ จมูก ลิ้น กาย

พรหมในระดับนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อภัพพสัตว์ คือจะไม่มีโอกาสได้พบพระพุทธเจ้า จึงไม่อาจหลุดพ้นไปจากสังสารวัฏได้

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วนั้นทรงพิจารณาบุคคลที่จะสั่งสอนให้บรรลุอรหันต์ ได้นั้นท่านได้ทราบว่า ครูของท่านคือ อุทกดาบสกับอาฬารดาบส สิ้นชีวิตไปอุบัติในชั้นอรูปพรหม พระพุทธองค์จึงกล่าวว่า “พินาศแล้ว ท่านอุทกดาบสและอาฬารดาบส” เพราะเมื่อบรรลุในอรูปพรหมแล้ว โอกาสที่จะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าไม่ว่ายุคใด สมัยใดก็จะสิ้นลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน