คอลัมน์ อริยะโลกที่6

“หลวงปู่หวด พรหมสโร” หรือ “พระครูวีรกิจบริหาร” อดีตเจ้าอาวาสวัดอภิสิทธิ์ และอดีตเจ้าคณะตำบลตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม เป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่าอีกรูปหนึ่งที่มีวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมีเมตตาธรรมสูง มีชื่อเสียงโด่งดังในเขตจังหวัดมหาสารคาม

มีนามเดิมว่า หวด ภวภูตานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 13 ก.พ.2435 ที่คุ้มบ้านจาน (วัดกลาง) อ.เมือง จ.มหาสารคาม

การศึกษาเบื้องต้น เข้าเรียนหนังสือไทยและคณิตศาสตร์ ที่สำนักของอาจารย์ทองดี จันทราช ณ วัดอภิสิทธิ์ จนจบชั้นเตรียมประถมฯหลังจากนั้น ออกมาช่วยงานครอบครัว

ต่อมาบิดาย้ายไปรับตำแหน่งเป็นกำนัน อยู่ที่ตำบลแวงน่าง อ.เมือง จ.มหาสารคาม

ครั้นอายุได้ 16 ปี บิดา-มารดา เห็นว่าบุตรมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงนำไปบรรพชาที่วัดโพธิ์ศรี อ.เมือง จ.มหาสารคาม และเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดโพธ์ศรี โดยมีพระครูสารคามมุนี (อ่อน) วัดโพธิ์ศรี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์วินัยธรรม (อุ่น) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์สังฆรักขิต (เคน) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังอุปสมบท จำพรรษาอยู่ที่วัดอุทัยทิศ ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม ก่อนเดินทางไปจำพรรษาศึกษาพระธรรมวินัย ที่วัดถนนคต อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เป็นเวลา 2 ปี สอบได้ นักธรรมชั้นตรี

ท่านให้ความสนใจด้านวิทยาคม จึงไปฝากตัวเป็นศิษย์กับพระอาจารย์อุ พระเกจิชื่อดังยุคเก่าของภาคอีสาน ท่านก็เมตตาถ่ายทอดวิชาให้จนหมดสิ้น อาทิ แคล้วคลาด เมตตามหานิยม กันบ้านกันเมือง รวมทั้งเรียนวิชาลูกคิดจีน

ต่อมา ได้เดินทางกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดอุทัยทิศ ด้วยความที่ท่านเป็นคนหมั่นศึกษาหาความรู้ ศึกษามูลกัจจายน์ และเรียนบาลีธรรมบท ท่านแปลภาคหนึ่งถึงภาคแปดได้อย่างแตกฉาน

เป็นผู้มีอุปนิสัยใจคอเยือกเย็น มักน้อย ถ่อมตนดำรงชีวิตด้วยความสมถะ วัตรปฏิบัติของหลวงปู่หวด ถือการเดินจงกรมและนั่งสมาธิภาวนาทุกวัน รวมทั้งหลังออกพรรษาแทบทุกปี จะออกท่องธุดงควัตรไปตามป่าเขาในภาคอีสานเพื่อแสวงหาความหลุดพ้นตามรอยพระตถาคต

ด้วยเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เคร่งครัดพระธรรมวินัยเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม ทำให้ชื่อเสียงของท่านเป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนชาวมหาสารคามอย่างรวดเร็ว

ในแต่ละวันมีผู้เลื่อมใสศรัทธาจำนวนมากเดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรม สะเดาะเคราะห์ และประพรมน้ำพระพุทธมนต์อย่างไม่ขาดสาย

หลวงปู่หวดยังให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาของพระภิกษุ-สามเณร เนื่องจากผู้บวชเรียนส่วนใหญ่ล้วนมาจากครอบครัวที่ยากจน ท่านให้การสนับสนุนโดยบริจาคปัจจัยเป็นทุนการศึกษาให้กับสำนักเรียนวัดอภิสิทธิ์ทุกปี

หลวงปู่ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจพัฒนาการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชื่อเสียงของสำนักเรียนวัดอภิสิทธิ์ โด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้าง วัดแห่งนี้มีชื่อเสียงทางด้านการศึกษาพระปริยัติธรรมต่อเนื่อง

ลำดับงานปกครองสงฆ์ พ.ศ.2478 ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอภิสิทธิ์ พ.ศ.2491 เป็นกรรมการสงฆ์ อำเภอเมือง ตำแหน่งสาธารณูปการ พ.ศ.2494 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลตลาด พ.ศ.2496 เป็นพระอุปัชฌาย์

ลำดับสมณศักดิ์ปี พ.ศ.2484 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูประทวน ในตำแหน่งพระปลัดหวด พ.ศ.2495 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูวีรกิจบริหาร”

ช่วงบั้นปลายชีวิตสังขารเริ่มโรยราเกิดอาพาธบ่อยครั้ง สุขภาพร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง หลังตรากตรำรับใช้พระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน สุดท้ายได้มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2512 สิริอายุ 78 ปี พรรษา 58

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน