ร่วมรำลึก 28 ปี-มรณกาล

หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร วัดป่าวังเลิง

ร่วมรำลึก 28 ปี-มรณกาล – “หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร” วัดป่าวังเลิง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม อดีตพระกัมมัฏฐานอีกรูปหนึ่งแห่งภาคอีสาน ที่มีวัตรปฏิบัติดี แม้ละสังขารไปนานหลายสิบปี แต่คณะศิษย์ยังให้ความเลื่อมใสศรัทธาอย่างไม่เสื่อมคลายตราบจนปัจจุบัน

ร่วมรำลึก 28 ปี-มรณกาล

โดยจะรู้กันว่าทุกวันที่ 20 เม.ย.ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันมรณภาพ บรรดาคณะศิษย์และญาติโยมจากทั่วสารทิศจะเดินทางมาร่วมทำบุญใหญ่ที่วัดป่าวังเลิง เพื่อน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน

สำหรับการจัดงานพิธีบำเพ็ญกุศลวันคล้ายวันมรณภาพครบ 28 ปี หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร ในปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา เป็นไปอย่างเรียบง่าย เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

มีนามเดิม บุญมี สมภาค ถือกำเนิดเมื่อวันศุกร์ที่ 14 ต.ค.2453 ณ บ้านขี้เหล็ก อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ เป็นบุตรคนเดียวของพ่อทำมา-แม่หนุก สมภาค ครอบครัวมีอาชีพทำไร่ทำนา ฐานะค่อนข้างจะยากจนเหมือนกับชาวอีสานทั่วไป

ชีวิตช่วงวัยเด็กของหลวงปู่ เป็นคนใฝ่เรียนรู้ อ่อนโยน มีเรื่องเล่าว่า ช่วงที่หลวงปู่อายุ 8-9 ขวบ ได้ออกไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควายอยู่กับเพื่อนกลางทุ่งนา

ท่านเก็บภาพพระพุทธรูปได้ จึงนำมาเก็บไว้ดูและเกิดแรงศรัทธาที่แรงกล้า จึงนำดินเหนียวมาปั้นเป็นพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ไว้บูชาที่บ้าน

ร่วมรำลึก 28 ปี-มรณกาล

ร่วมรำลึก 28 ปี-มรณกาล

ย่างเข้าสู่วัยรุ่นอายุได้ 17 ปี บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดบ้านท่าขี้เหล็ก ได้ประมาณปีมารดาสุขภาพไม่ดี หลวงปู่เป็นลูกคนเดียวจึงต้องสึกออกมาดูแลบุพการี

จนอายุได้ 21 ปี จึงอุปสมบทจำพรรษาอยู่ที่วัดในหมู่บ้าน โดยมีพระอาจารย์สิงห์ มีศักดิ์เป็นหลวงน้า ดำเนินการให้บวชในสายมหานิกาย แต่ด้วยจิตใจอยากเรียนด้านปริยัติธรรม แต่ไม่สะดวก เพราะ สำนักเรียนวัดเลียบต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เป็นวัดธรรมยุตจึงต้องญัตติเป็นพระฝ่ายธรรมยุต

หลวงปู่บุญมี จึงต้องอุปสมบทใหม่ในปีพ.ศ.2474 โดยมีพระศาสนดิลก เจ้าอาวาสวัดเลียบ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาสว่าง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา “สิริธโร”

หลังจากอุปสมบทแล้วได้ตั้งใจศึกษา เล่าเรียนจนสอบนักธรรมตรี โท เอก ด้วยความมุ่งมั่นอยากศึกษาพระธรรมวินัยที่ลึกซึ้งสูงขึ้น ในปี พ.ศ.2479 จึงเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร เรียนที่สำนักวัดปทุมวนาราม สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค

ร่วมรำลึก 28 ปี-มรณกาล

ร่วมรำลึก 28 ปี-มรณกาล

จากนั้นจึงเดินทางกลับบ้านเกิดและออกเดินธุดงค์ เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วภาคอีสาน

เป็นพระสงฆ์ในยุคเดียวกับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน แต่ไม่ได้พบกับ หลวงปู่มั่นเลย แต่เคยได้รับฟังธรรมะของพระอาจารย์ใหญ่ทำให้เกิดกำลังใจในการบำเพ็ญเพียรภาวนา

สำหรับคำสอนที่พร่ำสอนศิษยานุศิษย์เน้นเรื่องของกรรมว่า “ทุกคนมีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทั้งดี ทั้งชั่ว ทั้งบุญทั้งบาป”

ย้ำเสมอว่าเรื่องกรรมไม่ใช่เรื่องเหลวไหลเป็นเรื่องจริงขอให้เชื่อในกฎแห่งกรรม “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”

นอกจากนี้ ยังมีคำสอนผญาธรรมภาษาอีสานที่น่าสนใจ เช่น “เทียวทางโค้งหนทางมันนานฮอด มัวเก็บบักหว่า มันสิซ้าคำ ทาง” ล้วนเป็นคำสอนที่ลึกซึ้งให้คติเตือนใจใช้ในชีวิตประจำวันได้

ตลอดชีวิตหลวงปู่มหาบุญมี ได้เดินธุดงควัตรและจำพรรษาอยู่ในวัดเขตพื้นที่ภาคอีสานหลายวัด เช่น วัดห้วยทราย จ.มุกดาหาร วัดคำม่วง จ.อุดรธานี วัดป่าหนองบัว จ.สกลนคร เป็นต้น

ร่วมรำลึก 28 ปี-มรณกาล

สุดท้ายในปี พ.ศ.2533 ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าวังเลิง จ.มหาสารคาม

บุกเบิกพัฒนาสร้างวัดป่าวังเลิงแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยความไม่เที่ยงของสังขาร เริ่มมีอาการอาพาธบ่อยครั้ง

สุดท้ายมรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2535 รวมอายุ 81 ปี พรรษา 61

ภายหลังมรณภาพ คณะศิษย์ชาวอีสานร่วมก่อสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่มหา บุญมี ภายในมีการจัดแสดงเครื่องอัฐบริขารต่างๆ จัดไว้เป็นหมวดหมู่ มีประวัติ ภาษิตคำสอน เครื่องใช้ประจำวันหนังสือธรรมะ และอัฐบริขาร 8 จัดแสดงไว้ให้ลูกศิษย์ได้น้อมรำลึกถึงคุณงามความดีของหลวงปู่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน