คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

แทน ท่าพระจันทร์

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่านพระเครื่องที่เป็นพระเนื้อดินเผา โดยเฉพาะพระกรุพระเก่านั้น โดยส่วนมากจะเป็นพระสมัยสุโขทัย เนื่องจากพุทธศิลปะสวยงามมากที่สุด แม้พระเครื่องในสมัยต่อมาก็ยังคงสร้างพุทธศิลปะแบบสุโขทัยแทบทั้งสิ้น

พระเครื่องปางลีลาเนื้อดินเผาที่นิยมกันมากๆ ก็มักจะเป็นพระเครื่องที่พบในจังหวัดกำแพงเพชร เช่น พระกำแพงเม็ดขนุน พระกำแพงพลูจีบ พระกำแพงกลีบจำปา เป็นต้น และเป็นพระที่ขุดพบที่บริเวณลานทุ่งเศรษฐี บริเวณนี้มีวัดเก่าแก่มากมาย ตั้งอยู่เป็นกลุ่มใกล้ๆ กัน กรุที่ถูกกล่าวอ้างถึงมากที่สุดมัก จะเป็นกรุวัดพิกุล วัดบรมธาตุ ส่วนวัดอื่นๆ จะกล่าวถึงน้อย

ความจริงแล้วผมคิดว่า พระกรุทุ่งเศรษฐีนี้พบกันทุกกรุ และไม่ค่อยมีใครทราบแน่นอนว่าพระชนิดใดพบที่กรุวัดใด เนื่องจากมีการขุดกรุพระมานมนานแล้ว น่าจะเป็นร้อยกว่าปีมาแล้ว และพระเครื่องก็มีพบมากมายทุกวัด ซึ่งในสมัยนั้นก็คงไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไรนัก เพราะมีมากมายจึงยังไม่มีสนนราคาเท่าไร

นักขุดกรุพระส่วนใหญ่จะมุ่งหวังหาสมบัติแก้วแหวนเงินทองเสียมากกว่า เพราะกรุพระแทบทุกกรุจะนำแก้วแหวนเงินทองบรรจุไว้ในกรุพร้อมกับพระเครื่องพระบูชา เพื่อเป็นพุทธบูชา นักขุดกรุพระในสมัยนั้นจึงมุ่งหวังในทรัพย์สินแก้วแหวนเงินทองเสียมากกว่า ในส่วนพระที่มีราคาก็จะเป็นพระพุทธรูปบูชา ก็จะนำไปขายให้แก่เศรษฐีหรือพ่อค้า

ส่วนพระเครื่องนั้นเป็นของแถม เนื่องจากมีพบมากมายเป็นกระบุงโกย หลากหลายพิมพ์ ก็เอามาห้อยบูชาบ้าง แถมแจกกันบ้าง (หมายถึงในสมัยก่อนนะครับ) เมื่อพระเครื่องมีจำนวนมาก พวกนักขุดก็จะเก็บไปบ้างจำนวนหนึ่งเท่านั้นไม่ขนไปจนหมด เพราะเขามุ่งหวังในสิ่งที่มีค่า และพระบูชาขนาดเขื่องๆ เท่านั้น และก็รีบขนเคลื่อนย้ายไป เพราะการลักลอบแอบขุดกรุนั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จะมัวโอ้เอ้อยู่ไม่ได้

เมื่อพระเครื่องที่ขุดพบนั้นมีจำนวนมาก จึงถูกทิ้งไว้บริเวณแถวนั้น บางครั้งก็โกยๆ ออกจากกรุเพื่อค้นหาสมบัติหรือพระบูชาขนาดใหญ่ พระเครื่องต่างๆ จึงกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณลานทุ่งเศรษฐี วัดแต่ละวัดก็อยู่ติดๆ กัน อาณาเขตของวัดติดต่อกันเป็นกลุ่ม และบริเวณแห่งนี้ก็มีการลักลอบขุดซ้ำกันอีกต่อมาหลายยุค

โดยเฉพาะพระเครื่องของทุ่งเศรษฐีนั้น เริ่มมีราคาค่านิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ตอนที่ปักเสาไฟฟ้าแรงสูงที่มาจากเขื่อนภูมิพล (ยันฮี) ก็พาดผ่านบริเวณทุ่งเศรษฐีด้วย ก็มีการพบพระเครื่องกระจัดกระจายอยู่ด้วยเช่นกัน

การขุดซ้ำขุดซ้อนบริเวณลานทุ่งเศรษฐีนั้นก็พบพระตามลานดินทั่วไป ทำให้จะระบุว่า พระแบบใดเป็นของกรุใดยากครับ แล้วทำไมชอบจะระบุว่า เป็นกรุวัดพิกุล ครับกรุวัดพิกุลนั้น มีคนรู้จักและได้ยินชื่อมากเนื่องจากในปี พ.ศ.2506 มีการแอบขุดกรุที่วัดพิกุลอีกครั้ง และพบพระเครื่องจำนวนมาก

หลังจากนั้นกรมศิลป์ก็เข้าบูรณะ แต่พระเครื่องก็เริ่มหมดไปจากลานทุ่งเศรษฐีแล้ว พระที่พบในปี พ.ศ.2506 จะพบพระนางกำแพงเป็นหลัก แต่ก็พบพระพิมพ์อื่นๆ อีกมาก พระที่พบของกรุวัดพิกุลเป็นพระเนื้อดินละเอียดหนึกนุ่ม เป็นที่นิยม เราจึงมักจะได้ยินเจ้าของพระบอกว่า เป็นกรุวัดพิกุลแทบทั้งนั้น

ครับผมคงไม่ไปขัดกับความเห็นของผู้ใด แต่ขอเรียกพระเครื่องที่พบบริเวณทุ่งเศรษฐีไม่ว่าจะเป็นกรุวัดใดว่า “พระกรุทุ่งเศรษฐี” เนื่องจากบางครั้ง ก็ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นกรุวัดใดแน่ แต่ถ้าบอกว่ากรุวัดพิกุลจะได้ราคากว่าเท่านั้น กะว่าจะคุยกันถึงพระกำแพงลีลา แต่ก็อดพูดไปเรื่องอื่นเสียไม่ได้ นึกว่าคุยกันสนุกๆ ก็แล้วกันนะครับ

พระกำแพงลีลาที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือพระกำแพงพลูจีบ ซึ่งเป็นพระกำแพงลีลาที่หายากมากที่สุดในบรรดาพระกำแพงลีลาของกำแพงเพชร ในสมัยก่อนนิยมกันมาก แต่เนื่องจากจำนวนพระที่พบมีน้อยจึงทำให้หายาก และคนที่มีก็หวงแหนกันมาก จนแทบไม่ได้พบเห็นพระแท้ๆ กันเลยครับ

เมื่อพิจารณาพุทธศิลปะของพระกำแพงพลูจีบแล้ว ก็ทำไม่ค่อยเหมือนกับพระปางลีลาอื่นๆ มองดูเหมือนกับองค์พระลอยเลื่อนไปในอากาศมากกว่าจะก้าวเดิน แม่พิมพ์ของพระเป็นพระพิมพ์ตื้น แต่ก็คงรายละเอียดไว้ครบถ้วนสวยงาม มีฐานบัวรองรับ กรอบนอกของพระจะมีรอยจับออกจากแม่พิมพ์ จะเห็นได้ว่าคอดตรงกลาง ทำให้มองดูคล้ายๆ กับใบพลูกินหมากที่ม้วนจีบไว้อย่างสวยงาม จึงเป็นที่มาที่คนโบราณขนานนามว่า พระพลูจีบ

พระกำแพงพลูจีบปัจจุบันหาแท้ๆ ยากมากครับ สนนราคาก็สูงตามไปด้วย ในวันนี้ผมได้นำรูปพระกำแพงลีลาพลูจีบ กรุทุ่งเศรษฐี จากหนังสืออมตพระกรุอันล้ำค่าของไทย มาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน