หลวงพ่อเพ็ง กตธัมโม
วัดสำราญใต้ นครพนม-อริยะโลกที่ 6

หลวงพ่อเพ็ง กตธัมโม วัดสำราญใต้ นครพนม-อริยะโลกที่ 6 – พระครูเจติยานุรักษ์ หรือ หลวงพ่อเพ็ง กตธัมโม อดีตเจ้าคณะตำบลอาจสามารถ และเจ้าอาวาสวัดสำราญใต้ หมู่ 3 ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม ที่ชาวบ้านเคารพเลื่อมใสศรัทธา

ปัจจุบันสิริอายุ 97 ปี พรรษา 25

มีนามเดิมว่า เพ็ง สีลา เกิดเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2469 ปีขาล พื้นเพเป็นชาวบ้านสำราญใต้ ต.อาจสามารถ อ.เมือง บิดา-มารดา ชื่อนายบุตร และนางน้อย สีลา เป็นบุตรคนโต ในจำนวนพี่น้อง 6 คน
เรียนจบชั้น ม.3 ย่างวัยหนุ่มประกอบอาชีพทำนา ก่อนมีครอบครัว ภรรยาเป็นชาวบ้านดง ต.พนอม อ.ท่าอุเทน

หลังภรรยาเสียชีวิต จึงละทิ้งทางโลก หันหน้าเข้าสู่ร่มกาวสาวพัสตร์

เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2538 ณ พัทธสีมาวัดโพธิ์ชัย อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม มีพระครูโพธิชยาภรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระพรมมี ฐิตมโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการสูรย์ สุทธจิตโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ย้ายมาจำพรรษาที่วัดสำราญใต้ (วัดธาตุ) ชื่อเดิมในขณะนั้น เป็นวัดอยู่ติดริมฝั่งน้ำโขง มีสภาพเป็นป่าหญ้ารกรุงรัง มีอุโบสถเก่า ริมกำแพงด้านทิศเหนือติดฝั่งโขง มีพระธาตุสำราญประดิษฐานอยู่ สันนิษฐานมีอายุเก่าแก่กว่า 2,000 ปี

หลังท่านมาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้ อุโบสถหลังเก่าก่อสร้างด้วยหินโบราณกว้าง 6 นิ้ว ยาว 12 นิ้ว มีสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงบูรณปฏิสังขรณ์สร้างอุโบสถหลังใหม่ครอบหลังเก่า ไว้ประกอบศาสนกิจของสงฆ์ และยังพัฒนาวัดก่อสร้างกำแพงแก้วรอบอุโบสถ

สำหรับพระธาตุสำราญใต้ เป็นพระธาตุเก่าแก่ มีความกว้าง 2.5 เมตร สูงถึงยอดฉัตร 12 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.8 ในยุคที่ผู้คนในสมัยนั้นเดินทางไปสร้างพระธาตุพนม ก่อนหยุดพักที่วัดแห่งนี้ หลังสร้างพระธาตุพนมเสร็จ จึงวกกลับมาสร้างพระธาตุองค์นี้จนเสร็จ

เดิมทียอดฉัตรพระธาตุสำราญใต้ เป็นยอดฉัตรทองคำ แต่ถูกโจรขโมยตัดยอดทองคำไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ท่านและชาวบ้านจึงทำพิธียกยอดฉัตรทองคำเปลวสูง 1 เมตรเศษ และสมโภชในเวลาต่อมา
โดยสำนักศิลปกรที่ 9 อุบลราชธานี นำอิฐที่ก่อสร้างพระธาตุองค์นี้ ไปตรวจพิสูจน์พบว่ามีอายุเก่าแก่กว่า 2,000 ปี สันนิษฐานว่าสร้างในยุคองค์พระธาตุพนม

หลวงพ่อเพ็ง กตธัมโม

เป็นเจดีย์มีลักษณะตามแบบองค์พระธาตุพนม ก่ออิฐถือปูน เป็นอิฐโบราณ ใช้ยางบงที่คนในสมัยก่อนใช้อุดรอยรั่วของเรือ ผสมกับปูนขาวประสานก่ออิฐเป็นเจดีย์

ทิศตะวันตกของวัดยังมีศิลาจารึกหินทรายสีแดง รูปใบเสมาแตกหัก 3 ส่วน จารึกตัวอักษรขอม ประกาศขอบเขตวัด อันได้แก่ที่ดินของวัดและพระธาตุเจดีย์ดังกล่าว

ต่อมาจึงขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุ เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2478 กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 17 เม.ย.2563 เกิดพายุฤดูร้อนซัดกระหน่ำ ทำให้ยอดพระธาตุหักพังทลายลงมา รวมทั้งอิฐโบราณแตกชำรุดเสียหาย

ล่าสุด สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี เข้ามาสำรวจเพื่อจะออกแบบยอดฉัตรใหม่ ส่วนจะเป็นยอดทองคำหรือทองคำเปลวนั้น แนะนำให้คณะกรรมการวัดไปหารือกับชาวบ้านและวัด ว่าจะใช้แบบในกันแน่ เพื่อบูรณะยกยอดฉัตรใหม่ แทนยอดฉัตรเก่าที่พังเสียหาย

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2549 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ พระครูอุดมเจติยานุรักษ์ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2549

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัด และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลชั้นโท เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2556

ย่างเข้าสู่ปัจฉิมวัย พระครูอุดมเจตินานุรักษ์ ท่านอาพาธอัมพฤกษ์ หลังหกล้มจากเก้าอี้ที่วัดใกล้ต้นโพธิ์เมื่อปี 2560

ลูกหลานและญาติพี่น้องจึงนำตัวไปรักษาตัวอยู่ที่บ้านดง ต.พนอม อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม แต่หูยังได้ยินชัดเจน พูดจาคล่องแคล่ว

ถือเป็นพระนักพัฒนาอีกรูปของนครพนม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน