สมเด็จพระพุทธชินวงศ์(ประจวบ)
วัดมกุฏกษัตริยาราม กทม.

: คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

 

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์(ประจวบ) วัดมกุฏกษัตริยาราม กทม. : คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6 – วันอาทิตย์ที่ 14 มิ.ย.2563 น้อมรำลึกครบรอบ 94 ปี ชาตกาล “สมเด็จพระพุทธชินวงศ์” (ประจวบ กันตาจาโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พระเถระที่มีความรอบรู้ทั้งในทางคดีโลกและคดีธรรม

มีนามเดิมว่า ประจวบ นามสกุล เนียมหอม กำเนิดเมื่อวันจันทร์ที่ 14 มิ.ย.2469 ที่หมู่บ้านโรงจีน ตำบลบางแพ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี บิดาชื่อ คง มารดาชื่อ ท้อน

อายุ 12 ปี บรรพชา เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2480 ที่วัดเหนือบางแพ อ.บางแพ จ.ราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน) วัดสัตตนารถปริวัตร จ.ราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์

อายุ 14 ปี พ.ท.วิบูล สิริสุภาส ซึ่งขณะนั้นยังดำรงอยู่ในสมณเพศและดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูวิบูลธรรมคุต วัดราชบพิธฯ นำเข้ามาฝากให้อยู่กับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพเวที วัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อเดือน พ.ค.2483

สร้างผลงานให้แก่วงการคณะสงฆ์และสาธารณประโยชน์มากมาย ในด้านการศึกษา เป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม และโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริยาราม และเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรมบาลี และแผนกสามัญศึกษา มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2516 ที่ ต.สนับทึบ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ตามพระดำริของสมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์(ประจวบ) วัดมกุฏกษัตริยาราม กทม. : คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6 

ด้านสาธารณูปการ บูรณปฏิสังขรณ์ และก่อสร้างอาคารถาวรวัตถุภายในวัดมกุฏกษัตริยาราม ก่อสร้างอาคารเรียน อาคารที่พักอาศัย อุโบสถ หอประชุมมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย (วัดชูจิตธรรมาราม อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา) รวม 50 หลัง

นอกจากนี้ ได้ก่อสร้างศาลาการเปรียญและกุฏิที่พักอาศัยที่สำนักปฏิบัติธรรมมกุฏคิรีวัน ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา รวมทั้งให้ความอนุเคราะห์โรงพยาบาลอำเภอบางแพ เป็นต้น

งานด้านปกครอง ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต และอื่นๆ อีกมากมาย

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2505 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระกิตติสารมุนี พ.ศ.2515 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชกวี

พ.ศ.2517 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่พระเทพโมลี พ.ศ.2528 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมธัชมุนี

พ.ศ.2536 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏที่ พระธรรมปัญญาจารย์

พ.ศ.2543 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์

นับเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับในแวดวงการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย ด้วยสมเด็จฯ ถือเป็นผลผลิตของมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย หลังจากสำเร็จปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยแล้ว ท่านได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยบันนารัส ประเทศอินเดีย ในสาขาศาสนาและปรัชญา

ถือเป็นพระเถระชั้นสมเด็จพระราชาคณะรูปแรกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก

อีกทั้ง คลุกคลีอยู่กับงานด้านบริหารมาอย่างยาวนาน ตลอดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ท่านขยายวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยไปทั่วทุกภาคของประเทศไทยอย่างมากมาย

ด้วยการมองการณ์ไกลของการขยายการศึกษาสู่ท้องถิ่น เป็นกำลังสำคัญในการก่อตั้งวิทยาลัยสงฆ์วังน้อย (มหาวชิราลงกรณ ราชวิทยาลัย) เป็นวิทยาเขตแห่งแรกของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เปิดการเรียนการสอน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 เป็นต้นมา

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ อาพาธด้วยโรคไตวายเรื้อรัง ปอดอักเสบ หลอดเลือดหัวใจตีบ เบาหวาน และมรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2551 เวลา 07.53 น. ที่ห้องซีซียู ตึกอัษฎางค์ ชั้น 3 โรงพยาบาลศิริราช สิริอายุ 81 ปี พรรษา 61

ทั้งนี้ ขอเชิญพุทธศาสนิกชนทุกท่าน ร่วมงานบำเพ็ญกุศลเพื่ออุทิศถวาย

ซึ่งคณะสงฆ์วัดชูจิตธรรมาราม พระอารามหลวง อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย โดยพระราชวัชราภรณ์ (สมพงษ์ ฐิตวังโส) เจ้าอาวาส จัดพิธีบำเพ็ญกุศล ที่วัดชูจิตธรรมาราม พระอารามหลวง ในวันอาทิตย์ที่ 14 มิ.ย.2563 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน