หลวงปู่เทียน – วันเสาร์ที่ 18 ก.ค. 2563 น้อมรำลึก ครบรอบ 54 ปี มรณกาล “พระครูบวรธรรมกิจ” หรือ “หลวงปู่เทียน ปุปผธัมโม” อดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ อ.เมือง จ.ปทุมธานี หนึ่งในพระเกจิเชื้อสายมอญ เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวปทุมธานี รวมถึงแวดวงนักนิยมสะสมวัตถุมงคล

เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 พ.ย. 2419 ตรงกับแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ปีชวด ที่ ต.กระแซง อ.สามโคก อายุ 11 ขวบ เริ่มศึกษาอักขรสมัยเบื้องต้นกับพระอธิการวัดป่าหรือ วัดชัยสิทธาวาส แล้วย้ายมาอยู่วัดโบสถ์ อ.เมือง เพื่อเรียนหนังสือไทยและภาษามอญกับพระอธิการนวลจนอ่านออกเขียนได้

อายุ 14 ปี ก็เข้ากรุงเทพฯ ศึกษาต่อที่วัดมหาพฤฒารามจนจบหลักสูตร จากนั้นเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในวังพระองค์เจ้าขาว 1 ปี ต่อมาย้ายไปรับราชการเป็นหนังเสมียนกับอธิบดีศาลอุทธรณ์

จนอายุ 20 ปีบริบูรณ์ จึงลาออกจากราชการ และเข้าพิธีอุปสมบทเมื่อเดือนมี.ค. 2439 ที่วัดบางนา อ.สามโคก มีพระรามัญราชมุนี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ได้รับฉายา “ปุปผธัมโม”

หลังอุปสมบทย้ายมาจำพรรษาที่วัดโบสถ์ เพื่อศึกษาวิชากับพระอุปัชฌาย์จนมีความรู้แตกฉานทั้งภาษาบาลี รามัญ และวิทยาคมต่างๆ

จากนั้นเริ่มออกธุดงค์แสวงหาความสงบตามป่าเขา เคยธุดงค์ไปทางภาคเหนือและฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า จ.พิจิตร พระเกจิชาวมอญ ผู้เป็นพระอาจารย์รูปหนึ่งของหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ท่านจึงนับเป็นศิษย์ผู้น้องของหลวงพ่อเงิน

เป็นพระผู้เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ มีเมตตาธรรม เป็นที่รักเคารพของพุทธศาสนิกชน มีลูกศิษย์มากมาย รวมถึง 3 พระเกจิผู้เป็นศิษย์เอก สืบทอดวิทยาคม ได้แก่ หลวงพ่อลมูล วัดเสด็จ, หลวงปู่เส็ง วัดบางนา จ.ปทุมธานี และหลวงปู่เริ่ม วัดจุกกะเฌอ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี

ปี พ.ศ.2448 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ต่อจาก พระอธิการนวล

พ.ศ.2457 เป็นเจ้าคณะตำบลบ้านกลาง จ.ปทุมธานี พ.ศ.2469 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2477 เป็นพระครูชั้นประทวนและกรรมการการศึกษา ฯลฯ

สมณศักดิ์สุดท้ายได้รับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศเป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นเอก ราชทินนามที่พระครูบวรธรรมกิจ

สร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังมากมาย ล้วนปรากฏพุทธคุณเป็นที่ประจักษ์เลื่องลือ ช่วงสงครามอินโดจีนท่านสร้างเครื่องรางของขลังแจกจ่ายแก่ชาวบ้าน ทั้งเสื้อยันต์ ผ้าประเจียด ตะกรุด ฯลฯ

ซึ่งท่านเขียนและลงอักขระด้วยตัวท่านเองทุกอย่าง จนเป็นที่กล่าวขวัญกันว่า “ไม่มีผู้ใดตายโหงเมื่อมีวัตถุมงคลของขลังของท่านติดตัว” หรือพระสมเด็จเนื้อผงพุทธคุณ สอดตะกรุดสาลิกาและพระปิดตาฝังตะกรุดสาลิกาอันลือเลื่องด้านเมตตามหานิยม ทำให้ชื่อเสียงของท่านขจรไกล

วัตถุมงคลทุกประเภทเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหามาตั้งแต่อดีต และหาดูหาเช่าของแท้ได้ยากยิ่งในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหรียญปั๊มรูปเหมือนรุ่นแรก ปี 2490 ได้รับการยกย่องให้เป็นเหรียญยอดนิยมของ จ.ปทุมธานี

เป็นหนึ่งในพระเกจิคณาจารย์ที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ถวายพระสมเด็จเนื้อผงและเหรียญรูปเหมือนเนื้อทองคำ หมายเลข ๙ และ ๙๙ แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พระตำหนักจิตรลดาฯ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2509

วาระสุดท้าย มรณภาพเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2509

สิริอายุ 90 ปี พรรษา 70

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน