อริยะโลกที่6

“หลวงปู่บุดดา ถาวโร” วัดกลางชูศรีเจริญ อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี พระเถระชื่อดัง ที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา

มีนามว่า “มุกดา” หรือ “บุดดา” นามสกุล “มงคลทอง” เกิดในหมู่บ้านหนองเต่า ต.พุคา อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ตรงกับวันที่ 5 ม.ค.2437

สมัยเด็กท่านไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เพราะไม่มีโรงเรียนใกล้บ้าน จนเติบใหญ่จึงเป็นที่พึ่งพาช่วยบิดามารดาทำนาเลี้ยงชีพ

กระทั่งเข้าวัยเกณฑ์ทหาร ถูกคัดเลือกเข้าสังกัดกองทัพบก ท่านจึงมีโอกาสฝึกเขียนอ่านหนังสือ พอมีความรู้

หลังพ้นราชการทหาร ช่วยครอบครัวทำงาน จนอายุได้ 28 ปี จึงเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดเนินยาว อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี โดยมีพระครูธรรมขันธ์สุนทร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูเรือง และเจ้าอธิการไพล เป็นคู่กรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า “ถาวโร”

สมัยนั้นการศึกษาพระปริยัติธรรมบาลียังไม่แพร่หลาย ท่านอาศัยการหัดอ่าน ท่องบทสวดมนต์ ทำวัตรเช้า-เย็นอยู่ภายในวัด รวมทั้งได้รับการสอนกรรมฐานเบื้องต้นจากพระอุปัชฌาย์

ด้วยจิตที่มุ่งมั่นแสวงหาโมกขธรรม เพียงพรรษาแรกท่านออกจาริกธุดงค์ไปตามภาคต่างๆ ข้ามฝั่งไทยไปสู่ประเทศลาวอย่างกล้าหาญชาญชัย เป็นการธุดงค์เดี่ยว ไม่มีครูผู้ชี้แนะ มีแต่ร่มเก่า บาตรหนึ่งใบ และข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นเท่านั้น

แต่ละเส้นทางธุดงค์ของท่านได้พบปะสหธรรมิกหลายรูป ทั้งพระกัมมัฏฐานที่เก่งในทางปฏิบัติ พระเกจิเรืองวิทยาคม และพระเถระชั้นผู้ใหญ่ อาทิ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) วัดบรมนิวาส, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์, หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต, พระสุพรหมยาน วัดพระพุทธบาทตากผ้า, หลวงปู่สิม วัดถ้ำผาปล่อง, หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค, หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย, หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ, หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ฯลฯ

วัดต่างๆ ที่ท่านไปจำพรรษา ประกอบด้วย จ.เพชรบุรี 20 พรรษา, จ.ลพบุรี 14 พรรษา, กรุงเทพฯ 8 พรรษา, จ.ระยอง 7 พรรษา, จ.ชัยนาท 4 พรรษา

ยังไม่นับวัดที่จำพรรษาระยะสั้นๆ อาทิ วัดหนองหลวง จ.นครสวรรค์, วัดเนรัญชรา จ.เพชรบุรี, วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี, วัดเหนือสน จ.ราชบุรี เป็นต้น

กระทั่งอายุ 80 ปี ท่านจึงยุติการธุดงค์ ด้วยสังขารไม่เอื้ออำนวย ก่อนมาจำพรรษาที่วัดกลางชูศรีเจริญ อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี เป็นวัดสุดท้าย กว่า 40 ปี

ปฏิปทาจริยวัตรของหลวงปู่บุดดา เคร่งครัดในระเบียบวินัยสงฆ์ ถือครองผ้าสามผืนเป็นวัตร บิณฑบาตและถวายสังฆทานทุกวัน ฉันเพียงมื้อเดียววันเว้นวัน และฉันเฉพาะในบาตร

สิ่งที่ไม่เคยขาด คือ หาโอกาสพิจารณากัมมัฏฐาน 5 ตามอุบายที่ครูบาอาจารย์สั่งสอน พร้อมเร่งทำความเพียร ด้วยความมานะอดทนเป็นเลิศ

ท่านไม่เคยสอนให้ชาวบ้านงมงายในวัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขลัง แต่ท่านมีวิธีอบรมใจตัวเองได้อย่างแยบคาย แม้ในยามเผชิญอยู่กับภยันตรายเฉพาะหน้า ท่านก็จะยกสิ่งที่เผชิญอยู่นั้นเป็นอุบายในการอบรมจิตใจตนเสมอ

เวลากว่า 40 ปี ที่ใช้ชีวิตอยู่ในป่าเขา อบรมจิตใจของท่านจนสามารถแยกแยะ กำหนด และตัดสังโยชน์ได้อย่างเป็นขั้นตอน

ช่วงบั้นปลายชีวิต หลวงปู่บุดดาอาพาธหนัก คณะศิษย์นิมนต์พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ประกอบพิธีนั่งกัมมัฏฐานช่วยต่ออายุให้หายจากอาการอาพาธ แต่ท่านมิอาจฝืนสังขาร

มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันพุธที่ 12 ม.ค.2537 สิริอายุ 100 ปี พรรษา 72

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน