คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

แทน ท่าพระจันทร์

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน มีพระกรุเนื้อชินชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า พระพิจิตรข้างเม็ด กรุวัดเขาพนมเพลิง จังหวัดสุโขทัย ในปีสองพันห้าร้อยสิบกว่าๆ ผมเองได้พบพระกรุวัดเขาพนมเพลิงแบบหนึ่ง เป็นพระองค์เล็กๆ รูปทรงสามเหลี่ยม ผิวปรอทจับขาวประปราย สอบถามดูเขาบอกว่า “พระพิจิตรข้างเม็ด กรุเขาพนมเพลิง”

ฟังดูแรกๆ ก็งงๆ อยู่พอสมควรครับ เพราะในสมัยที่ยังเรียนอยู่ก็เคยติดตามอาจารย์ขึ้นไปศึกษาโบราณสถานที่ศรีสัชนาลัย และก็ขึ้นไปบนเขาพนมเพลิงด้วย ก็รู้ว่าเขาพนมเพลิงอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย ทำไมจึงเรียกว่าพระพิจิตร

วัดเขาพนมเพลิง เป็นโบราณสถาน ที่ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ตั้งอยู่บนเขาพนมเพลิงซึ่งเป็นเขาเล็กๆ มีตำนานบอกเล่าในการสร้าง สำหรับประกอบพิธีบูชาไฟในเมืองศรีสัชนาลัย วัดเขา พนมเพลิงมีเจดีย์ประธานทรงลังกาก่อด้วยศิลาแลง วิหารประดิษฐานพระพุทธรูป และเจดีย์ราย

เรื่องพระพิจิตรข้างเม็ด กรุวัดเขา พนมเพลิง ผมมาเจอในสนามพระปีสองพันห้าร้อยสิบกว่าๆ จึงขอเจ้าของดู หยิบพระมาส่องดูก็เห็นเนื้อโลหะที่ความเก่า มีร่องรอยการระเบิดผุปะทุอยู่แสดงความเก่าให้เห็น และก็เชื่อว่าไม่เก๊แน่ก็เลยเช่ามา ราคาขณะนั้นยังไม่แพงแค่ไม่กี่ร้อย และก็กลับมาค้นหาความเป็นมาว่าอย่างไร จึงทราบว่าพระกรุวัดเขาพนมเพลิง แตกกรุประมาณปี พ.ศ.2507 มีการลักลอบขุดพระ และพบพระมากมาย มีหลายพิมพ์ ทั้งพิมพ์ที่พบในที่กรุอื่นๆ ก็มาก

เช่น พระพุทธชินราช เนื้อชิน พระศาสดา พระลีลาซุ้มเรือนแก้ว พระร่วงนั่งหลังตัน (คล้ายๆ กับพระร่วงนั่งหลังลิ่ม) และพิมพ์อื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้งพระพิจิตรข้างเม็ดด้วย พระเกือบทั้งหมดเป็นพระเนื้อชินเงิน มีผิวปรอทจับขาวเกือบทั้งองค์ มาศึกษาดูกรุวัดเขา พนมเพลิงเป็นกรุที่อยู่สูง จึงไม่ถูกน้ำท่วม องค์พระจึงค่อนข้างสมบูรณ์ มีผิวปรอทจับอยู่ถึงแม้ว่าจะผ่านกาลเวลามาถึงหลายร้อยปีก็ตาม

ก็มาถึงว่าทำไมจึงเรียกว่า “พระพิจิตรข้างเม็ด” สอบถามคนรุ่นเก่าจึงทราบว่า พระพิมพ์นี้เคยพบที่จังหวัดพิจิตร ที่วัดบ้านกล้วย เป็นพระเนื้อชินเงิน แต่ผิวพระออกสีดำ และมีสนิมเกล็ดกระดี่เกาะผิวพระ พระส่วนมากที่พบที่กรุวัดบ้านกล้วย จะชำรุดสนิมกินผุเกือบหมด องค์พระจะค่อนข้างหนากว่าของกรุเขาพนมเพลิง พระที่พบที่กรุวัดบ้านกล้วยมีชื่อเรียกกันว่า พระพิจิตรข้างเม็ด เนื่องจากขอบโดยรอบจะมีเม็ดๆ ปรากฏอยู่โดยรอบ ต่อมาเมื่อมีการพบพระในลักษณะเดียวกันที่กรุวัดเขาพนมเพลิง จึงเรียกชื่อตามพระกรุของเมืองพิจิตร แต่ใส่ชื่อกรุตามลงไปเพื่อให้รู้ว่าพบที่กรุใด

ครับพระพิจิตรข้างเม็ดกรุวัดเขา พนมเพลิงก็มีขนาดเล็กๆ เช่นเดียวกับพระพิจิตร พิมพ์ก็เหมือนกัน ผิดกันที่ความหนาของกรุวัดเขาพนมเพลิงจะบางกว่า และที่สำคัญผิวของพระกรุวัดเขาพนมเพลิงมักจะมีคราบปรอทจับ ด้านหลังของพระพิจิตรกรุบ้านกล้วยจะเป็นแบบหลังลายผ้า แต่ของกรุวัดเขาพนมเพลิงมีทั้งหลังลายผ้า หลังตัน และหลังแอ่งครับ ปัจจุบันก็หาพระพิจิตรข้างเม็ด กรุวัดเขาพนมเพลิงแท้ๆ ชมค่อนข้างยาก ของปลอมมีระบาดมานานแล้วครับ แต่ธรรมชาติความเก่าของพระก็ยังทำไม่ได้ดี พอให้สังเกตได้ครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระพิจิตรข้างเม็ด กรุวัดเขาพนมเพลิง จากหนังสือ อมตพระกรุ อันล้ำค่าของเมืองไทยมาให้ ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน