คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง

ราม วัชรประดิษฐ์

วัดมหาวัน จ.ลำพูน เป็นวัดเก่าแก่หนึ่งใน “วัดสี่มุมเมือง” หรือ “จตุรพุทธพุทธปราการ” ซึ่งพระนางจามเทวีผู้ได้รับการอัญเชิญมาเป็นกษัตริย์เมืองหริภุญไชย ทรงสร้างเพื่อเป็นการคุ้มครองเมืองไว้ทั้ง 4 ทิศ เมื่อปี พ.ศ.1223 ซึ่งมีวัดพระคงฤาษี วัดประตูลี้ วัดดอนแก้ว และวัดมหาวัน

“พระรอด” นั้น พบเฉพาะที่วัดมหาวัน จังหวัดลำพูน เท่านั้น โดยแตกกรุหลายครั้ง พระรอดคงบรรจุอยู่ในพระเจดีย์โบราณ ต่อมาพระเจดีย์ได้โค่นล้มลง พระรอดจึงตกอยู่ในดินกระจัดกระจายทั่วไป ท่านตรียัม ปวายได้บันทึกไว้ว่า

“ณ สถานที่วัดมหาวันตั้งอยู่ปัจจุบันนี้ ได้มีคนเล่าสืบต่อกันมาว่า สมัยโน้นก่อนที่จะมีคนสร้างวัดนี้ขึ้นอีกครั้งหนึ่งนั้น (ร้างมาแล้วครั้งหนึ่ง) โบราณวัตถุของเก่าได้เหลือปรากฏอยู่แต่พระเจดีย์ซึ่งมีเถาวัลย์ปกคลุมอยู่ (หมายถึงเจดีย์ที่อยู่ข้างในก่อนการปฏิสังขรณ์ครั้งหลังๆ) อย่างเดียวเท่านั้น นอกนั้นไม่มีสิ่งใดปรากฏเหลืออยู่เลยบนพื้นดิน เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ยอดด้วน คือยอดปรักหักพังลงไป ซึ่งไม่มีใครทราบได้ว่าหักพังลงไปแต่เมื่อใด ตามหลักฐานทางตำนานได้กล่าวไว้ว่า เจดีย์องค์นี้แหละเป็นสถานที่บรรจุพระรอด เพราะเหตุที่เจดีย์องค์นี้หักพังลง พระรอดจึงได้กระจัดกระจายไปในทิศต่างๆ ตามบริเวณรอบๆ ที่ใกล้เคียง สันนิษฐานกันว่า ยอดพระเจดีย์คงจะหักพังลงไปทางทิศตะวันตก เพราะได้มีผู้ขุดยอดพระเจดีย์ ซึ่งเป็นศิลาแลงทางทิศนั้น อนึ่งปรากฏว่ามีผู้ค้นพบพระรอดได้เป็นจำนวนมากมายทางทิศนั้นอีกด้วย ซึ่งมีมากกว่าทางทิศอื่นๆ จนกระทั่งสถานที่ขุดได้กลายเป็นบ่อน้ำพุ”

พระรอดมีการค้นพบหรือขึ้นมาจากกรุหลายครั้ง

– ครั้งแรก พ.ศ.2435-2445 สมัยเจ้าหลวงเหมพินธุไพจิตร ซึ่งได้ปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ขึ้นใหม่ ทำให้ได้พบพระรอดจำนวนมากมายภายใต้ซากเจดีย์เก่า

– ประมาณ พ.ศ.2451 สมัยเจ้าหลวงอินทิยงยศ เห็นว่ามีต้นโพธิ์ขึ้นแทรกบริเวณฐานพระเจดีย์มหาวัน และมีรากชอนลึกทำให้พระเจดีย์มีรอยร้าวหลายแห่ง จึงให้ช่างรื้อฐานและปฏิสังขรณ์ใหม่ พบพระรอดจำนวน 1 กระเช้าบาตร (ตะกร้าบรรจุกับข้าวตักบาตร) จึงนำแจกจ่ายบรรดาญาติวงศ์เจ้าลำพูน เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ (บุตร) เมื่อสมัยนั้นยังหนุ่ม ก็ได้พระรอดไปเป็นจำนวนมาก

– พ.ศ.2497 ปฏิสังขรณ์วิหารเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2497 พบพระรอดไม่กี่องค์ แต่พบพระคง พระบาง พระสาม พระสิบสอง และพระรอดหลวงด้วย

– พ.ศ.2498 ปฏิสังขรณ์กุฏิเจ้าอาวาสในสมัยนั้น ในการขุดเพื่อลงรากฐานก่อสร้าง พบพระรอดกว่า 200 องค์ แทบทุกองค์เป็นพระที่งามและเนื้อจัด มีหลายพิมพ์ทรง

ต่อจากนั้นหลัง พ.ศ.2500 ก็ยังมีการขุดหาพระรอบบริเวณวัดอยู่อีกเป็นเวลานาน และมีการกำหนดทีจ่ายราคาค่าขุดกันพบพระรอดอีกจำนวนหนึ่ง สำหรับ “พระรอดพิมพ์ใหญ่” นั้น มีพุทธลักษณะงดงาม เป็นศิลปะหริภุญไชยมีวิธีการพิจารณา คือ

– แยกกลุ่มโพธิ์ให้ได้มี 6 กลุ่มโดยมีก้านโพธิ์กั้น

– ผนังซ้ายมือขององค์พระมีเส้นพิมพ์แตกลากจากพระกรรณยาวลงมาถึงโพธิ์ข้างหัวไหล่

– ปลายพระกรรณเป็นขอเบ็ด

– สะดือเป็นหลุมคล้ายเบ้าขนมครก

– มีเส้นน้ำตกลากผ่านหน้าตักจนถึงชั้นฐาน

– มีฐาน 4 ชั้น

– หัวแม่มือขวากางอ้าปลายตัด

– ใบโพธิ์กลางชุดที่ 2 เป็นโพธิ์ติ่ง

– ใบโพธิ์จะตั้งเป็นสันนูนขึ้นมาคล้ายทรงพีระมิด

– เนื้อละเอียดมากด้านหลังเป็นลอยคล้ายลายนิ้วมือ

– ก้นมีสองชนิดคือก้นเรียบและก้นแมลง สาบ (ก้นพับ)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน